×

ปี 2564: เศรษฐกิจไทยยังขาดมาตรการแบบไหน และจะฟื้นตัวเมื่อไร

13.01.2021
  • LOADING...
ปี 2564: เศรษฐกิจไทยยังขาดมาตรการแบบไหน และจะฟื้นตัวเมื่อไร

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ศูนย์วิจัยต่างปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงต่ำกว่า 3% เพราะเจอพิษโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งทำให้รัฐบาลเริ่มออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งการให้เงิน 3,500 บาทนาน 2 เดือน และต่ออายุมาตรการทางการเงินทั้งธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ 
  • TMB Analytics มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 โตเหลือ 2.4% เร่งภาครัฐเดินหน้ามาตรการให้ตรงจุด ตรงคน สอดคล้องกับ Krungthai COMPASS ที่พุ่งเป้าเพิ่มการจ้างงานกระตุ้นบริโภคระยะยาว 
  • ครึ่งแรกของปี 2564 เศรษฐกิจไทยยังแย่ หวังครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้นจากวัคซีน นักท่องเที่ยว และการคุมโควิด-19 ให้อยู่มือ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ค่อยๆ ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดเล็กและประชาชนที่เจอผลกระทบโควิด-19 รอบแรกเมื่อปี 2563 

ล่าสุดรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อสู้กับโควิด-19 ระลอกใหม่ ทั้ง ‘เราชนะ’ โครงการเงินเยียวยาที่คล้ายกับเราไม่ทิ้งกัน โดยลดวงเงินเหลือ 3,500 บาทต่อเดือน และจะให้ต่อเนื่อง 2 เดือน การลดค่าครองชีพอย่างค่าน้ำ-ค่าไฟ โครงการคนละครึ่งที่จะเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ และขยายเวลามาตรการช่วยเหลือทางการเงินของธนาคารเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์

 

แม้ว่ามาตรการหลักๆ ของรัฐ (ที่ไม่ใช่ด้านการเงิน) จะต้องรอการพิจารณารายละเอียดต่างๆ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 19 มกราคมนี้ แต่เศรษฐกิจไทยยังต้องการมาตรการแบบไหนเพื่อเป็นแรงส่งในระยะยาวบ้าง  

 

TMB Analytics เร่งมาตรการรัฐต้องตรงจุดรับโควิด-19 รอบใหม่ ลด GDP ปี 2564 เหลือ 2.4%

นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย TMB Analytics เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH โดยมองว่าโควิด-19 ระลอกใหม่จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงเท่ารอบก่อน (เมษายน 2563) เพราะเป็นการล็อกดาวน์เฉพาะจุดที่กระทบการค้า การท่องเที่ยว แต่ภาคการผลิตยังเดินหน้าต่อไปได้ ขณะที่การเดินทางของคนยังมากกว่า ถือว่าสถานการณ์แตกต่างจากโควิด-19 รอบก่อน

 

ทั้งนี้มองว่ามาตรการรัฐในระยะต่อไปต้องออกมาตรงจุดและตรงคนมากขึ้น เพราะช่วงที่ผ่านมาผลกระทบและการฟื้นตัวในแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน รวมถึงการออกมาตรการที่สร้างแรงจูงใจไม่ให้ออกไปแพร่เชื้อ เช่น กลุ่มเสี่ยงอาจจะได้รับเงินอุดหนุนเพื่อไม่ให้ออกไปแพร่เชื้อ โดยจะเจาะในคนที่ได้รับผลกระทบ 


ก่อนหน้านี้นริศเคยยังพูดถึงมาตรการของรัฐในเรื่องการอุดหนุนการจ้างงานและการสร้างรายได้ของแรงงานในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันยังไม่เห็นมาตรการรูปแบบนี้จากภาครัฐอย่างชัดเจน โดยในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ มีการให้เงินสนับสนุนภาคเอกชนในการจ้างงานลูกจ้างต่อไป ทำให้ไม่ต้องปลดพนักงานออก

 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ทำให้ TMB Analytics ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2564 ลงเหลือ 2.4% จากก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัวราว 3.5% ซึ่งโควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้การบริโภคภาคเอกชนปี 2564 คาดว่าจะโตเพียง 1.6% จากก่อนหน้าที่คาดไว้ราว 3% และยังกระทบการลงทุนของเอกชนที่ปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 3.2% (ปี 2563 ติดลบ 10.2%) ขณะที่การส่งออกและการลงทุนของภาครัฐปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน 

 

 

 

กรุงไทยชี้ โควิด-19 รอบใหม่ทำไทยเสียโอกาส 1.6 แสนล้าน เร่งรัฐดูแลการจ้างงาน
พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าโควิด-19 ระลอกใหม่กระทบการใช้จ่ายของภาคเอกชนอย่างมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในประเทศ โดยคาดว่ามูลค่าด้านการท่องเที่ยวจะหายไปราว 1.1 แสนล้านบาท (กรณีควบคุมพิเศษ 2 เดือน) และหากการควบคุมใช้เวลา 3 เดือน จะส่งผลให้มูลค่าการท่องเที่ยวหายไป 1.5 แสนล้านบาท 

 

ทั้งนี้ โควิด-19 ระลอกใหม่ยังทำให้เกิดค่าเสียโอกาสไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาทจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้าออกไปท่ามกลางความไม่แน่นอน แต่หากมาตรการที่ใช้อยู่สามารถควบคุมสถานการณ์ภายใน 2-3 เดือน และมีมาตรการเยียวยาโควิด-19 รอบสองของภาครัฐราว 1.7 แสนล้านบาทออกมาทันเวลา คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวที่ 2.5%

 

“ความเข้มงวดของมาตรการที่ใช้เพื่อควบคุมโควิด-19 ระลอกใหม่นี้อยู่ที่ 64% ซึ่งน้อยกว่าโควิด-19 รอบก่อนหน้าที่อยู่ราว 73% จึงมองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะน้อยกว่า และทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 นี้จะข้ามพ้นภาวะถดถอยไปได้ (จากปี 2563 ที่ GDP ติดลบ)”

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรมีมาตรการในการดูแลการจ้างงานในระยะต่อไป เพราะอัตราการว่างงานในไตรมาส 4/63 ยังอยู่ราว 2% ไม่ลดลงจากไตรมาส 3/63 ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อเนื่องทั้งการจ้างงานและรายได้ของแรงงานที่ลดลง รัฐบาลจึงควรมีมาตรการเพื่อประคับประคองและให้ความสำคัญเรื่องการจ้างงานมากขึ้น 

 

ขณะที่ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวคิด Asset Warehousing เพื่อมาช่วยเหลือธุรกิจโรงแรม ซึ่งปี 2564 อาจต้องลดจำนวนห้องพักในตลาดลง 30-40% ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง จึงต้องติดตามว่ามาตรการนี้จะออกมาใช้เมื่อไรและใช้อย่างไร

 

 

ปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตอนไหน
นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร TMB Analytics เล่าว่าสมมติฐาน GDP ไทยปี 2564 ที่ 2.4% นี้ยังไม่ได้รวมผลของวัคซีนต้านโควิด-19 เพราะยังต้องดูประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าไทยอาจจะไม่ได้มีการฉีดวัคซีนพอที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่เหมือนในต่างประเทศที่มีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง 

 

แต่ประเมินว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะผ่านจุดต่ำสุดไปได้ โดยไตรมาส 2/64 นั้น GDP อาจจะโต 7-8% เพราะฐานที่ต่ำในปีก่อน (-12.1%) ส่วนครึ่งปีหลังจะเติบโตเฉลี่ย 2%  

 

พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่าปี 2564 เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 น่าจะได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 โดยในไตรมาส 2/64 ยังมีผลกระทบ แต่ลดหลั่นลงไป

 

ขณะที่ครึ่งหลังของปี 2564 ไทยจะได้รับอานิสงส์จากวัคซีนโควิด-19 ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการควบคุมการแพร่ระบาดทั่วโลกชัดเจนขึ้น และไตรมาส 4 จะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับเข้ามาราว 3 ล้านคน ส่งผลให้ปี 2564 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 4.4 ล้านคน ซึ่งต้องติดตามการกระจายวัคซีนในต่างประเทศช่วงไตรมาส 2/64 นี้

 

ทั้งนี้ ภาคการส่งออกของไทยยังมีความเสี่ยงในหลายด้าน ทั้งค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง สถานการณ์ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และต้นทุนการส่งออกที่สูง รวมถึงปัจจัยในต่างประเทศ ทั้งการเปลี่ยนแปลงผู้นำสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อนโยบายและบรรยากาศการค้าทั่วโลก นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังต้องติดตามภาวะภัยแล้งที่ต่อเนื่องจากปี 2563

 

“จากเรื่องโควิด-19 รอบใหม่และรอบเดิม มองว่าเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาราว 2 ปีกว่าจะกลับไปเติบโตเท่ากับช่วงปี 2562”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X