ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นต่อเนื่องส่งท้ายปี หลังกำลังซื้อประเทศคู่ค้าเร่งออร์เดอร์ช่วงเทศกาล นักท่องเที่ยวแห่มาไทยเที่ยวช่วงไฮซีซันทะลุ 31 ล้าน เตือนเศรษฐกิจปีหน้าอย่าประมาท! แนะรัฐบาลตั้ง War Room ตั้งรับนโยบายการค้าสหรัฐฯ
วานนี้ (18 ธันวาคม) อภิชิต ประสพรัตน์ และ นาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมด้วย วิรัช ฉัตรดรงค์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ระดับ 91.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 89.1 ในเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี และก่อนวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเดือนธันวาคม ประกอบกับภาคการส่งออกขยายตัวเร่งขึ้น 14.6%YOY เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่ขยายตัวสูง
ขณะที่ประเทศคู่ค้าเร่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องจักรและวัตถุดิบล่วงหน้าเพื่อรองรับการผลิตและเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในระยะต่อไป อีกทั้งการอ่อนค่าของเงินบาทยังส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้น รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
“เศรษฐกิจไทยได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 24 พฤศจิกายน 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยแล้วจำนวน 31,313,787 คน ขยายตัว 28%YoY สร้างรายได้ 1,466,408 ล้านบาท ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้ภาครัฐและเอกชนจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกภูมิภาค ส่งผลดีต่อการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ อีกปัจจัยที่ส่งผล คือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้น” นาวากล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ทำไม Trade War รอบนี้ไทยตกเป็นเป้าทั้งขึ้นทั้งล่อง สินค้าไหนเสี่ยงโดนเช็กบิลจาก Trump 2.0
- เปิดฉากทัศน์ทางรอดเศรษฐกิจไทย ในสนามสงครามการค้ายุคทรัมป์ 2.0
- วิเคราะห์โค้งสุดท้าย ‘ทรัมป์-แฮร์ริส’ ใครจะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป ไทยได้-เสียประโยชน์แค่ไหน เรื่องอะไรบ้างที่คนไทยต้องรู้
- อินโดนีเซีย-สปป.ลาว กำลังจะเป็นฐานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ใหม่ของทุนจีน หลังเลิกจ้าง ลดกำลังผลิตในเวียดนามเพื่อเลี่ยงขึ้นภาษีสหรัฐฯ และก่อนที่ทรัมป์จะคัมแบ็ก
โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม-กันยายน) มีโครงการต่างชาติยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1,449 โครงการ เพิ่มขึ้น 64%YOY มีมูลค่าการลงทุน 546,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38%YOY โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัล มีมูลค่าการลงทุน 90,262 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 13,176%YOY และงบประมาณภาครัฐปี 2568 เริ่มเบิกจ่ายแล้ว ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
น้ำท่วมใต้ฉุดเม็ดเงิน 1.4 พันล้านบาท ยอดขายรถยนต์ยังไม่ฟื้น
อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายนยังมีปัจจัยลบจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ กระทบต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจในพื้นที่ คาดการณ์มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท ปัญหาหนี้เสีย (NPL) ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 14.1%YoY กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค ยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ 37,691 คัน หดตัว 36.08%YOY ต่ำสุดในรอบ 54 เดือน
“สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศ รวมถึงยอดอนุมัติสินเชื่อ SMEs ในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 6.47 แสนล้านบาท หดตัว 4.6%YoY แสดงให้เห็นว่า SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้น้อยลงจากช่วงก่อนหน้า”
นอกจากนี้ยังมีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันในไทยมากขึ้น กดดันยอดขายสินค้าผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค พลาสติก เคมีภัณฑ์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ขณะเดียวกันจากการสำรวจสรุปปี 2567 ผู้ประกอบการ ครอบคลุม 46 อุตสาหกรรม ระบุว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวล ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ 55.6% เศรษฐกิจโลก 50.2% ราคาน้ำมัน 38.8% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 38.1% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 31.0% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 30.9%
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.7 โดยปัจจัยที่ห่วงกังวลคือ ความเสี่ยงเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการขึ้นภาษีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าสู่ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะ SMEs นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ในพื้นที่ต่างๆ อาจส่งผลให้ราคาพลังงานในตลาดโลกผันผวนและกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลก
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2, มาตรการเงินช่วยเหลือเกษตรกร, มาตรการแก้หนี้ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซัน คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปี 2568 มาตรการตรึงราคาพลังงานของภาครัฐ ทั้งราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2568 รวมถึงปรับลดค่าไฟฟ้า 4.15 บาทต่อหน่วย งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2568
5 ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐและมุมมองเศรษฐกิจปีหน้า 2568
- เสนอให้ภาครัฐจัดตั้ง War Room ซึ่งไม่ควรประมาท เพื่อเตรียมแนวทางรับมือกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทย รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการขยายตลาดในสหรัฐฯ
- เสนอให้ภาครัฐใช้กลไกการปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน (Pay By Skill) เพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่กับการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน
- เสนอให้ภาครัฐส่งเสริมหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของลูกหนี้ดีขึ้น
- ภาครัฐปรับปรุงกลยุทธ์ในการเจาะตลาดต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้กลไกทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศเพื่อขยายโอกาสทางการค้า รวมถึงปรับเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการส่งออก เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ตลอดจนกำหนดตัวชี้วัดของโครงการโดยเน้นประสิทธิภาพในการเจาะตลาด
- วางมาตรการสกัดสินค้าจีนที่จะทะลักเข้าสู่ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะ SMEs