×

ครม. รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกปี 2564 ติดลบ 2.6%

โดย THE STANDARD TEAM
18.05.2021
  • LOADING...
ภาวะเศรษฐกิจไทย

วันนี้ (18 พฤษภาคม) อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564 ดังนี้

 

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 ลดลงร้อยละ 2.6 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ที่ลดลงร้อยละ 4.2 ทำให้ไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ที่ร้อยละ 0.2 โดยได้แรงสนับสนุนสำคัญจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลงร้อยละ 0.5 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้านการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 7.3 ปรับตัวดีขึ้นมากจากการลงทุนภาคเอกชน กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ที่ร้อยละ 3 เช่นเดียวกับการลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูงที่ร้อยละ 19.6 สูงขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้านี้ การลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 9.3  ด้านการส่งออกสินค้า มีมูลค่า 64,004 ล้านดอลลาร์ กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ที่ร้อยละ 5.3 สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน 

 

อนุชากล่าวต่อไปว่า กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 17.3), รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 13.2), รถกระบะ (ร้อยละ 44.8), ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 53.1), ยางพารา (ร้อยละ 38.1) และมันสำปะหลัง (ร้อยละ 72.5) เป็นต้น กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม, ข้าว และน้ำตาล ด้านการผลิต การผลิตสินค้า, อุตสาหกรรมและสาขาก่อสร้าง, เกษตร, สื่อสารและการเงิน มีการขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนที่พักแรมและบริการด้านอาหาร, การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า, ไฟฟ้าและก๊าซ และการขายส่ง-ปลีก ลดลงต่อเนื่อง

 

ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -0.5 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.71 หมื่นล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่าทั้งสิ้น 8,472,187.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53.3 ของ GDP

 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 เป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการลดลงร้อยละ 6.1 ในปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติ ในปี 2563 ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้ำในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวร้อยละ 10.3 ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 1.6 และ 4.3 ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0-2.0 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.7 ของ GDP

 

อนุชายังกล่าวถึงการบริหารเศรษฐกิจในปีนี้ว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดขอโควิด-19 ภายในประเทศ เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อและให้อยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว รวมทั้งป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงในระลอกใหม่ โดยบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคและป้องกันการระบาดอย่างเคร่งครัด ยกระดับการเฝ้าระวังสอบสวนโรคเชิงรุกในเขตพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงในกรุงเทพฯ หรือเขตเมืองต่างๆ เร่งรัดจัดหาและกระจายวัคซีน การพัฒนาศักยภาพของระบบสาธารณสุข และเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

 

“ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็จะเดินหน้ามาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน เร่งใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เพื่อรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมๆ ไปกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศด้วย” อนุชากล่าว

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X