×

มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยโตต่อเนื่อง 14% ETDA คาดจบปีนี้ทะลุ 2.8 ล้านล้านบาท

04.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ปี 2559 ที่ผ่านมาอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่ามากถึง 2,560,103.36 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 14.03% (มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปี 2558 คือ 2,245,147.02 ล้านบาท) โดยอุตสาหกรรมทำเงินที่มีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับได้แก่ อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง, อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก และอุตสาหกรรมการผลิต
  • ช่องทางการชำระเงินออนไลน์ที่ผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs นิยมใช้มากที่สุดประจำปี 2559 คือการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต/เดบิต และเพย์เมนต์เกตเวย์ของธนาคารต่างๆ ส่วนช่องทางการกระจายและการจัดส่งสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ‘บริการไปรษณีย์ไทย’
  • ETDA คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2560 นี้ อีคอมเมิร์ซไทยจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 2,812,592.03 ล้านบาท เทียบเป็นอัตราส่วนการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 9.86% (ปี 2559-2560) สาเหตุมาจากปัจจัย 4 ประการได้แก่ การสนับสนุนจากภาครัฐ,​ ผู้ประกอบการหันมาพึ่งช่องทางออนไลน์มากขึ้น,​ แนวโน้มการเติบโตในอนาคตและนักลงทุนต่างประเทศ

     ผลการสำรวจมูลค่าธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2560 ชี้อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ไทยโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว 14% อุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่ง บริการที่พักและการผลิตทำเงินสูงสุด ด้าน ETDA คาดจบปีนี้อีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าทะลุ 2.8 ล้านล้านบาท

     ปีนี้สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ร่วมกันจัดทำรายงานผลการสำรวจมูลค่าธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยปี 2560 ขึ้นมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จากการรวบรวมและเก็บข้อมูลกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซเมื่อปี 2559 พร้อมคาดการณ์ล่วงหน้าทิศทางการเติบโตปี 2560

     ETDA ให้เหตุผลการสำรวจข้อมูลกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซในครั้งนี้ว่าเพื่อนำมาใช้อ้างอิงหรือเปรียบเทียบกับอีคอมเมิร์ซต่างประเทศ และเพื่อให้หน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปใช้วางนโยบาย บริหารจัดการกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพของตลาดที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะช่วยให้อีคอมเมิร์ซไทยพัฒนาได้อย่างถูกจุด มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 

 

อีคอมเมิร์ซไทยปีที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 2.5 ล้านล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมฟันเงินสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ ค้าปลีก-ค้าส่ง ให้บริการที่พัก และการผลิต

     การสำรวจครั้งนี้จำแนกเป็นการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปี 2559 และคาดการณ์มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปี 2560 ซึ่ง ETDA ใช้กลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการทั้งหมด 592,996 รายที่อ้างอิงรายชื่อจากสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ

 


     กลุ่มตัวอย่างที่ว่าแบ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการ อีคอมเมิร์ซน้อยกว่า 50 ล้านบาท ต่อปี (SMEs) จำนวน 2,810 รายและตัวแทนผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการอีคอมเมิร์ซมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ล้านบาทต่อปี (Enterprises) จำนวน 100 ราย และทำการสำรวจใน 3 ด้านได้แก่

      1. สำรวจมูลค่าตามลักษณะธุรกิจ ได้แก่ B2B (Business to Business), B2C (Business to Customers) และ B2G (Business to Government) ได้ข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเป็นมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ประกอบด้วยการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market: e-Market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding: e-Bidding) เท่านั้น

      2. สำรวจโดยแบ่งมูลค่าตามรายได้ผู้ประกอบการ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการ Enterprises

      3. สำรวจโดยแบ่งมูลค่าตามการแบ่งประเภทอุตสาหกรรม ISIC Rev.4 (International Standard Industrial Classification of All Economic Activities Rev.4) แบ่งเป็น 8 กลุ่มอุตสาหกรรมได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต, อุตสาหกรรม การค้าปลีกและการค้าส่ง, อุตสาหกรรมการขนส่ง, อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก, อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร, อุตสาหกรรมการประกันภัย, อุตสาหกรรม ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และอุตสาหกรรมการบริการด้านอื่นๆ

     และจากการสำรวจพบว่าในปี 2559 ที่ผ่านมาอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่ามากถึง 2,560,103.36 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 14.03% (มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปี 2558 คือ 2,245,147.02 ล้านบาท)

     ในจำนวนนี้จำแนกได้เป็นอีคอมเมิร์ซแบบ B2B ที่มีมูลค่ามากถึง 1,542,167.50 ล้านบาท (60.24%) รองลงมาคือ B2C มีมูลค่า 703,331.91 ล้านบาท (27.47%) และสุดท้ายคือ B2G มูลค่า 314,603.95 ล้านบาท (12.29%)

 

 

โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซสูงสุดทั้ง 8 หมวดได้แก่

  • อันดับ 1 : อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มูลค่า 713,690.11 ล้านบาท (31.78%) – จำแนกเป็น Enterprises 367,993.58 ล้านบาท และ SMEs 345,696.54 ล้านบาท
  • อันดับ 2 : อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มูลค่า 607,904.89 ล้านบาท (27.07%)
  • อันดับ 3 : อุตสาหกรรมการผลิต มูลค่า 428,084.73 ล้านบาท (19.06%) – จำแนกเป็น Enterprises 413,977.36 ล้านบาท และ SMEs 14,107.36
  • อันดับ 4 : อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร มูลค่า 384,407.71 ล้านบาท (17.12%) – จำแนกเป็น Enterprises 380,815.76 ล้านบาท และ SMEs 3,591.95 ล้านบาท
  • อันดับ 5 : อุตสาหกรรมการขนส่ง มูลค่า 83,929.05 ล้านบาท (3.74%)
  • อันดับ 6 : อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ มูลค่า 15,463.46 ล้านบาท (0.69%) – จำแนกเป็น Enterprises 11.854.90 ล้านบาท และ SMEs 3,608.56 ล้านบาท
  • อันดับ 7 : อุตสาหกรรมธุรกิจบริการอื่นๆ มูลค่า 9,622.77 ล้านบาท (0.43%) – จำแนกเป็น Enterprises 543.59 ล้านบาท และ SMEs 9,079.18 ล้านบาท
  • อันดับ 8 : อุตสาหกรรมการประกันภัย มูลค่า 2,396.69 ล้านบาท (0.11%)

 

 

คนไทยยังนิยมใช้บัตรเครดิต/เดบิต อีคอมเมิร์ซ SMEs ยังวางใจไปรษณีย์ไทย

     จากการเก็บข้อมูลยังพบอีกด้วยว่า ช่องทางการชำระเงินทางออนไลน์ที่ผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs นิยมใช้มากที่สุดประจำปี 2559 คือ การชำระเงินผ่านบัตรเครดิต/เดบิต และเพย์เมนต์เกตเวย์ของธนาคารต่างๆ (59.86%)

     ส่วนช่องทางการชำระเงินที่ได้รับความนิยมที่ลดหลั่นรองลงมาได้แก่ e-Banking ครอบคลุมรวม Internet Banking, Mobile Banking (23.00%), การชำระเงินผ่านธุรกรรมบนมือถือหรือตัวแทน (Third Party) เช่น m-Pay, True Money, Airpay, Linepay (13.33%) และการชำระเงินผ่านระบบต่างประเทศ เช่น Paypal, Alipay (3.81%)

 

 

     ด้านการใช้ช่องทางการขนส่งสินค้าและบริการที่ผู้ประกอบการนิยมมากที่สุดแบ่งตามขนาดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซพบว่า

     กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบ Enterprises นิยมใช้บริการบริษัทโลจิสติกส์ Outsource (Third Party) มากที่สุด 39.13% รองลงมาได้แก่การใช้บริการไปรษณีย์ไทย 34.78% และการใช้บริการโลจิสติกส์เป็นของตนเอง (Own Transportation) 26.09%

     ด้านกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบ SMEs นิยมใช้บริการไปรษณีย์ไทยมากที่สุดถึง 84.38% รองลงมาได้แก่ การใช้บริการบริษัทจัดส่งสินค้า (47.76%), การใช้บริการส่งโดยบริษัทตัวกลางในการจัดส่งสินค้า (8.40%),​ การใช้บริการจัดส่งสินค้าของตัวเอง (8.15%), การส่งข้อมูลผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (6.23%), การกำหนดจุดรับสินค้าระหว่างผู้ประกอบการกับลูกค้า (5.37%) และรูปแบบอื่นๆ (1.89%)

     ทั้งนี้ผู้ประกอบการแต่ละรายจะมีช่องทางในการกระจายสินค้าและบริการมากกว่า 1 ช่องทางเสมอ

 

ผลสำรวจชี้อีคอมเมิร์ซไทยโตต่อเนื่องทุกปีด้วยปัจจัยส่งเสริม 4 ประการ

     ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาที่ ETDA เก็บข้อมูลของอีคอมเมิร์ซประเทศไทยและรายงานสรุปเบ็ดเสร็จแต่ละปีพบว่า ภาพรวมอีคอมเมิร์ซไทยกำลังอยู่ในทิศทางการเติบโตที่ดี มีอัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่าในทุกๆ ปี เนื่องจากจำนวนของผู้ประกอบการที่เพิ่มมากขึ้น การปรับตัวเข้าสู่ช่องทางการค้าขายสินค้าออนไลน์และการกระจายสินค้าไปยังต่างประเทศ

     โดยอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2557 มีมูลค่า 2,033,493.35 ล้านบาท ส่วนในปี 2558 มีมูลค่า 2,245,147.02 ล้านบาท และปีที่ผ่านมานี้อีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากถึง 2,560,103.36 ล้านบาทเลยทีเดียว และมีอัตราการเติบโตระหว่างปีอยู่ที่ 10.41% (ปี 2557-2558) และ 14.03% (ปี 2558-2559) ตามลำดับ

     ETDA คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2560 นี้ อีคอมเมิร์ซไทยจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 2,812,592.03 ล้านบาท เทียบเป็นอัตราส่วนการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 9.86% (ปี 2559-2560) โดยส่วนใหญ่เป็นมูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2B จำนวน 1,675,182.23 ล้านบาท (59.56%), มูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C จำนวน 812,612.68 ล้านบาท (28.89%) และมูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2G จำนวน 324,797.12 ล้านบาท (11.55%)

 

     นอกจากนี้ยังสามารถจำแนกปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้อีคอมเมิร์ซไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็วออกเป็น 4 ประการได้แก่

      1. การสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐบาล

     ภาครัฐผลักดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซภายในประเทศ โดยมุ่งสนับสนุนและเร่งพัฒนาผู้ประกอบการระดับฐานราก ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่นให้สามารถค้าขายออนไลน์ได้จริง รวมถึงพัฒนาผู้ประกอบการรายเดิมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ทั้งยังส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ให้เข้ามาทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

      2. ผู้ประกอบการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าและบริการผ่านออนไลน์มากขึ้น

     การซื้อขายสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขยายช่องทางการสร้างรายได้ของธุรกิจ

      3. ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีแนวโน้มและศักยภาพโตได้อีกมากในอนาคต

     เนื่องจากพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ก็เป็นเรื่องง่าย ประหยัดเวลาและการเดินทาง สามารถสั่งซื้อสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีแนวโน้มและศักยภาพเติบโตได้อีกมากในอนาคต

     นอกจากนี้ยังมีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ที่จะช่วยผู้ประกอบการดูแลลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยี AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ประวัติการซื้อสินค้าและบริการ, พฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนสามารถให้บริการข้อมูลลูกค้าหลังการขายได้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นแนวโน้มและบทบาทของปัญญา ประดิษฐ์ต่ออีคอมเมิร์ซในอนาคต

     4. นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

     นักลงทุนด้าน e-Marketplace, e-Logistics, e-Payment ชื่อดังจากจีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, สิงคโปร์ และมาเลเซีย ทยอยเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการสร้างบรรยากาศในการแข่งขันและพัฒนาตัวเองของผู้ประกอบการไทยให้เกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ และยังสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้อีกด้วย

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

อ้างอิง:

  • รายงานผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2560 (Value of e-Commerce Survey in Thailand 2017) โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising