ตลาดโฆษณาดิจิทัลของไทยยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ล่าสุดสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ร่วมกับคันทาร์ (ประเทศไทย) เปิดเผยรายงานการใช้จ่ายงบโฆษณาดิจิทัลประจำปี 2567 พบว่าตัวเลขทะลุหลัก 30,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรก ด้วยมูลค่า 31,544 ล้านบาท เติบโต 8% จากปีก่อน และคาดการณ์ว่าปี 2568 จะเติบโตต่อเนื่องในอัตรา 10% คิดเป็นมูลค่ารวม 34,556 ล้านบาท
จากการเก็บข้อมูลจาก 33 เอเจนซีซึ่งครอบคลุมประมาณ 80% ของตลาด งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ลึกลงไปถึง 70 หมวดอุตสาหกรรมและ 18 รูปแบบสื่อดิจิทัล เพื่อสะท้อนภาพรวมตลาดได้อย่างชัดเจน
‘สกินแคร์’ เทงบโฆษณาออนไลน์มากสุด
กลุ่มผลิตภัณฑ์สกินแคร์ครองตำแหน่งผู้นำในการใช้จ่ายงบโฆษณาดิจิทัลปี 2567 ด้วยเม็ดเงินมหาศาลถึง 5,066 ล้านบาท คิดเป็น 16% ของตลาด และเติบโตจากปีก่อนถึง 46% ซึ่งถือว่าสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ที่น่าสนใจคือการคาดการณ์ว่าในปี 2568 กลุ่มนี้จะเพิ่มงบลงทุนอีก 21% เป็น 6,128 ล้านบาท
อันดับสองได้แก่กลุ่มยานยนต์ ที่มีการใช้จ่าย 3,016 ล้านบาทในปี 2567 แต่มีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวเล็กน้อยในปี 2568 ลดลงเหลือ 2,981 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นการใช้งบที่ทรงตัวมา 3 ปีแล้ว
ในขณะที่ข้อมูลจาก โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ระบุถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2567 ยังคงอยู่กับสถานการณ์ที่ท้าทายเป็นอย่างมาก จากสภาวะโดยรวมและทิศทางของตลาดในปีที่ผ่านมา สะท้อนมายังตลาดรถยนต์ในประเทศ โดยมีตัวเลขยอดขายรวมในปี 2567 อยู่ที่ 572,675 คัน หรือลดลง 26.2% เมื่อเทียบกับปี 2566
ทั้งนี้ มีปัจจัยหลากหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อที่ลดลงตามสถานการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจ รวมถึง ค่าครองชีพ อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ทรงตัวสูง ตลอดจนความเข้มงวดของมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2568 คาดว่าจะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมดทำให้คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2568 จะอยู่ที่ 600,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ด้านกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ครองอันดับที่สาม ด้วยเม็ดเงิน 2,513 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอีก 17% เป็น 2,942 ล้านบาทในปี 2568
ตามมาด้วยกลุ่มการสื่อสารโทรคมนาคม (2,035 ล้านบาท) และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากนม (2,014 ล้านบาท) ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในปีถัดไป
Meta ยังนำ แต่ TikTok มาแรง
ข้อมูลพบว่า Meta (Facebook และ Instagram) ยังคงครองอันดับ 1 ของแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการลงโฆษณาดิจิทัล โดยปี 2567 มีส่วนแบ่งตลาด 28% คิดเป็นมูลค่า 8,731 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าส่วนแบ่งตลาดจะลดลงเหลือ 26% ในปี 2568 แม้จะมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 9,088 ล้านบาท
ที่น่าจับตามองคือการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ TikTok ที่มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 7% ในปี 2566 เป็น 13% ในปี 2567 คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 4,167 ล้านบาท
และคาดว่าจะเติบโตอีก 32% เป็น 5,510 ล้านบาทในปี 2568 ทำให้ TikTok ขึ้นมาครองอันดับ 2 แซง YouTube ที่มีส่วนแบ่งตลาด 14% ในปี 2567 และคาดว่าจะมีส่วนแบ่ง 15% ในปี 2568
ที่น่าสนใจคือในกลุ่มอุตสาหกรรมสกินแคร์ TikTok ได้ก้าวขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 ที่ได้รับความนิยมในการลงโฆษณาแล้ว โดยมีงบประมาณลงทุนสูงถึง 1,799 ล้านบาท แซงหน้า Meta ที่มีเม็ดเงิน 1,328 ล้านบาท
แนวโน้มดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งปี 2568
DAAT ยังได้เผยผลจากการสำรวจเอเจนซี พบว่า เครื่องมือดิจิทัลที่คาดว่าจะได้รับความสนใจสูงสุดในปี 2568 คือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดย 75% ของเอเจนซีที่สำรวจเชื่อว่า AI จะมีบทบาทสำคัญในการทำการตลาดดิจิทัล ตามมาด้วยเครื่องมือแดชบอร์ดและการติดตามผลแบบเรียลไทม์ (69%) เครื่องมือสำหรับอีคอมเมิร์ซ (63%) และเครื่องมือฟังเสียงตลาดบนโซเชียล (56%)
ขณะที่มุมมองต่อเศรษฐกิจและการตลาดดิจิทัลในปี 2568 มีความท้าทายหลายประการ ทั้งจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าและการระมัดระวังงบประมาณยังคงเป็นความกังวลสำคัญของนักการตลาดในปี 2568 เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งความมั่นคงทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ และสภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ภายใต้ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ผู้บริโภคจะมีความภักดีต่อแบรนด์ลดลงและเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการอื่นได้ง่ายหากมีความเกี่ยวข้องกับความต้องการของตัวเอง
นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายจากการที่ผู้บริโภคเริ่มล้นตลาดจากการโฆษณาออนไลน์ที่มากเกินไป เพราะประเทศไทยมีภูมิทัศน์ดิจิทัลที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นและจำนวนผู้บริโภคดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเปิดโอกาสให้นักการตลาดสามารถเข้าถึงผู้ชมที่กว้างขึ้นผ่านช่องทางโฆษณาดิจิทัลต่างๆ
อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังว่าผู้บริโภคอาจเหนื่อยกับการใช้แพลตฟอร์มบางแห่งที่ไม่ตอบสนองต่อพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคจะได้รับการสื่อสารออนไลน์บ่อยครั้งมากกว่าที่เคย จนอาจเกิดความล้าในการรับสาร ดังนั้น การทำความเข้าใจความสนใจและพฤติกรรมของผู้บริโภคจึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความแตกต่างจากการไหลเข้ามาอย่างมหาศาลของการโฆษณาออนไลน์
ในฝั่งของเอเจนซีมีความจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วในยุคของ AI และออโตเมชัน โดยเฉพาะการผสมผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับการทำงาน การวิเคราะห์ข้อมูล และการสร้างคอนเทนต์
อีกทั้งยังเริ่มเห็นแนวโน้มของการเกิด ‘เอเจนซีแบบไฮบริด’ ที่ผสมผสานระหว่างการทำงานภายในองค์กรและการจ้างผู้เชี่ยวชาญภายนอก ซึ่งจะช่วยให้มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กลุ่มอุตสาหกรรมความงามและสุขภาพคว้าโอกาสไปได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ TikTok กำลังหมุนเวทีการแข่งขัน สร้างความท้าทายให้กับผู้เล่นเดิมอย่าง Meta ท่ามกลางสมรภูมิดิจิทัลที่ไม่เคยหยุดนิ่ง นักการตลาดต้องปรับตัวเร็ว ‘เพื่อให้ไม่ตกขบวนรถไฟ’ ที่กำลังแล่นฉิวด้วยความเร็วสูง
อ้างอิง: