วันนี้ (14 กรกฎาคม) ที่ทำการพรรคไทยสร้างไทย (ชั่วคราว) เมื่อเวลา 10.30 น. พรรคไทยสร้างไทยได้เชิญ นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เข้าร่วมหารือกับ โภคิน พลกุล และ วัฒนา เมืองสุข ในประเด็นที่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้กรมควบคุมโรคสั่งซื้อวัคซีน Sinovac เพิ่มเติมอีกจำนวน 10.9 ล้านโดส ในวงเงินประมาณ 6,100 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 1.2 ตามบัญชีท้าย พ.ร.ก. กู้เงิน ที่ประชุมมีมติดังนี้
- ตามมาตรา 55 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐบัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ซึ่งบริการสาธารณสุขดังกล่าวต้องครอบคลุมถึง 1. การควบคุม 2. การป้องกันโรค 3. การรักษาพยาบาล และ (4) การฟื้นฟูสุขภาพ ส่วนสิทธิของประชาชนในเรื่องนี้ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 47 ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิ์ได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามประกาศขององค์การอนามัยโลก และตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 รัฐจึงมีหน้าที่ที่จะต้องควบคุมและป้องกันโรค รวมทั้งรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสุขภาพประชาชนอันเป็นหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 55 ดังกล่าว
- ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิดได้มีการกลายพันธุ์จากเดิมไปสู่สายพันธุ์อินเดีย หรือเดลตา ซึ่งเกิดจากการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างชาติที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีที่ได้มอบให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งข้อเท็จจริงทางการแพทย์เห็นว่าวัคซีน Sinovac ที่รัฐบาลสั่งซื้อเพิ่มดังกล่าวกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้น้อยและไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาที่กำลังแพร่ระบาดได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงนี้แล้วการที่รัฐบาลยังสั่งซื้อวัคซีนดังกล่าวเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 55 อันเป็นหน้าที่ของรัฐ
- ที่ประชุมเห็นว่า เมื่อการควบคุมโรค การป้องกันโรค และการรักษาพยาบาลเป็นหน้าที่ของรัฐ การที่รัฐปล่อยให้มีการแพร่ระบาดหลายครั้ง ป้องกันโรคล้มเหลว และไม่สามารถให้การรักษาพยาบาลประชาชนได้อย่างทั่วถึงคือหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 2 ทางคือ ร้องต่อคณะกรรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามมาตรา 234 (1) ของรัฐธรรมนูญ หรือประชาชนสามารถใช้สิทธิฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
- โดยที่เป็นประเด็นสำคัญ พรรคไทยสร้างไทยจึงได้เปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นว่าควรฟ้องผู้รับผิดชอบในประเด็นนี้หรือไม่ ผลปรากฏว่าภายในระยะเวลาเพียง 6 วัน มีประชาชนเข้าชื่อแสดงความเห็นให้ฟ้องรัฐบาลถึง 650,000 ชื่อ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน พรรคไทยสร้างไทยจึงขอให้นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นทนายความฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
ที่ประชุมเห็นว่าควรฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในแต่ละประเด็นและนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล รวมทั้งเป็นผู้รับผิดชอบตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ นายกสมาคมฯ จะดำเนินการร่างฟ้องและพิจารณาผู้เสียหายที่จะเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนประชาชนที่เข้าชื่อมาทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วและชอบด้วยกฎหมายต่อไป