×

สลัดภาพเทสโก้ทิ้งไป! มองเครือ CP ยกเครื่อง ‘โลตัส’ ด้วยชื่อแบรนด์ใหม่เติม ‘เอส’ ดิจิทัล และอาหารสด พร้อมนำโนว์ฮาวจาก 7-Eleven มาเสริมแกร่ง

12.08.2021
  • LOADING...
Lotus’s

การใช้เงินกว่า 338,445 ล้านบาท ทำให้ ‘เทสโก้ โลตัส’ กลับเข้าสู่อ้อมอกของเครือ CP อีกครั้ง หลังจากต้องไปอยู่ภายใต้การบริหารของเครือซูเปอร์มาร์เก็ตจากสหราชอาณาจักรนานกว่าสองทศวรรษ 

 

นับตั้งแต่ซื้อกลับมา เครือ CP ได้รีแบรนด์และปรับเปลี่ยนร้านค้าให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ภายใต้แรงกดดันจากการระบาดของโรคโควิด และการแข่งขันจากผู้ค้าปลีกออนไลน์

 

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เครือ CP ได้รีแบรนดิ้งครั้งใหญ่ด้วยการตัดคำว่า ‘เทสโก้’ ออกจนเหลือแต่คำว่า ‘โลตัส’ พร้อมกับเติมตัว ‘เอส’ เข้ามาจนเป็น Lotus’s โดยตัวอักษรที่เพิ่มเข้ามานั้นถูกระบุว่าย่อจากคำว่า ‘สมาร์ท’ (Smart)

 

นอกจากเปลี่ยนชื่อแบรนด์แล้ว ภายในร้านก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ตัวอย่างเช่น มีป้าย Scan & Go ที่ลูกค้าสามารถสแกนรหัส QR เพื่อซื้อสินค้าและแจ้งจัดส่งตามเวลาที่เลือกโดยที่ไม่ต้องหิ้วกลับบ้านเอง ตลอดจนบริการ Click & Collect ที่ลูกค้าสามารถสั่งทางออนไลน์แล้วค่อยมารับสินค้าที่สาขา และยังมีบริการจัดส่งถึงบ้านผ่านแอปพลิเคชัน Grab

 

“เรามุ่งเน้นโซลูชันการช้อปปิ้งอัจฉริยะด้วยการบริการส่วนบุคคลและดิจิทัล (Personalized and Digitalized Services)” สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ซีอีโอของเอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม ซึ่งเป็นผู้บริหารเชนโลตัส กล่าวกับ Nikkei Asia

 

รายงานจาก Nikkei Asia ชี้ว่า การดึงดิจิทัลเข้ามาเป็นความพยายามของกลุ่ม CP ที่จะลบความเกี่ยวข้องกับเจ้าของเดิมอย่าง ‘เทสโก้’ ซึ่งทำให้ภาพจำของโลตัสในความรู้สึกของผู้บริโภคคนไทยคือ การมีสินค้าราคาถูกและคุณภาพต่ำ

 

“เราคาดว่าการรีแบรนด์ (เปลี่ยนชื่อ) ทั้งหมดของเราที่มีร้านค้ากว่า 2,100 แห่งในประเทศไทยจะแล้วเสร็จในปี 2565” สมพงษ์กล่าว

 

ขณะเดียวกัน ทางเครือ CP จะใช้ความรู้ของตัวเองซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอาหารของไทยเข้ามาเลือกสรร ‘อาหารสด’ ซึ่งนี่เคยเป็นจุดอ่อนของโลตัสในช่วงที่เชนค้าปลีกจากแดนผู้ดีเป็นผู้บริหารอยู่ 

 

โดยอาหารถือเป็นธุรกิจหลักและสร้างรายได้ 1 ใน 3 ของบริษัท แม่ทัพโลตัสขยายความกับ Nikkei Asia ว่า โลตัสจะมุ่งเน้นที่อาหารสดที่มีคุณภาพดีเยี่ยมและการนำเสนอที่หลากหลาย

 

นอกจากนั้น ด้วยความที่กลุ่ม CP มีร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ 7-Eleven กว่า 12,000 แห่งในประเทศไทย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 80% ดังนั้น ทางเครือจึงจะนำโนว์ฮาวในส่วนนี้มาใช้กับร้านที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตด้วย โดยในปี 2564 โลตัสวางแผนจะขยายเพิ่มอีก 300-400 สาขาในรูปแบบต่างๆ

 

ย้อนกลับไปในปี 2540 ซึ่งเครือ CP กำลังดิ้นรนกับวิกฤตการเงินจนต้องขายหุ้น 75% ในธุรกิจโลตัสให้กับกลุ่มเทสโก้ ก่อนจะขายทั้งหมดในปี 2546 และเมื่อเทสโก้ประกาศขายกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางเครือ CP ก็ไม่รอช้าที่จะกระโดดเข้าคว้าธุรกิจที่ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ มองว่าเป็น ‘ลูก’ โดยชนะประมูลกับ T.C.C Group และกลุ่มเซ็นทรัล จนกลายเป็นการเข้าซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ

 

แต่ในขณะที่โลตัสได้กลับเข้ามาสู่อ้อมอกอีกครั้ง ภูมิทัศน์การค้าปลีกได้รับการเปลี่ยนแปลงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยการเพิ่มขึ้นของอีคอมเมิร์ซและร้านสะดวกซื้อ ดังนั้น ท้ายที่สุดโลตัสอาจต้องลงเอยด้วยการแข่งกับ 7-Eleven ซึ่งมีเจ้าของเดียวกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X