วันนี้ (2 ธันวาคม) ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ก่อนอ่านคำวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณียังพักอาศัยในบ้านพักของข้าราชการทหาร
โดยศาลมีมติเอกฉันท์ให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงใด
โดย พล.อ. ประยุทธ์ เคยเป็นผู้บัญชาการทหารบก จึงเป็นผู้มีสิทธิ์เข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรอง และมีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาตามระเบียบบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 ซึ่งกำหนดให้อดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพบกที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติและเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้วมีสิทธิ์เข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรอง
อีกทั้งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของประเทศ มีฐานะเป็นผู้นำของประเทศ ความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีรวมทั้งครอบครัวนั้นสำคัญ รัฐมีหน้าที่จัดการความปลอดภัยให้นายกรัฐมนตรีรวมทั้งครอบครัวตามความเหมาะสมแก่สภาพการ การจัดบ้านพักรับรองที่ปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว สร้างความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม
หลังฟังคำวินิจฉัย ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะตัวแทนผู้ร้องในคดี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาศัยอยู่ในบ้านพักหลวงภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กล่าวว่าข้อเท็จจริงที่เราได้เสนอต่อศาลไปก่อนหน้านี้ไม่ตรงกับคำวินิจฉัยในประเด็นที่ศาลระบุว่านายกรัฐมนตรีมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพราะเป็นผู้บริหารประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีท่านก่อนๆ ก็อยู่บ้านพักตัวเองและได้รับการดูแลจากรัฐเช่นเดียวกัน ไม่ได้มีมาตรการพิเศษเกินกว่าปกติ
ทั้งนี้คำวินิจฉัยของศาลผูกพันทุกหน่วยงานในภาครัฐ โดยคำวินิจฉัยจะเป็นบรรทัดฐานหลายอย่างให้กับองค์กรของรัฐอื่นๆ ได้ปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม จากคำวินิจฉัยในวันนี้ไม่สามารถนำไปร้องต่อใดๆ ได้ เพราะศาลวินิจฉัยว่าไม่ได้ฝ่าฝืนทั้งรัฐธรรมนูญและจริยธรรม
นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่าต่อไปหากหน่วยงานอื่นออกระเบียบให้ข้าราชการที่เกษียณไปแล้วสามารถอยู่บ้านพักหลวงต่อได้โดยมีเงื่อนไขทำคุณงามความดีเป็นประโยชน์ให้แผ่นดิน ถ้าหน่วยงานอื่นเอาแนวทางนี้ไปปฏิบัติตาม ตนกังวลว่าจะต้องมีงบประมาณเพิ่มอีกจำนวนมากเพื่อรองรับบุคลากรที่เกษียณและทำประโยชน์ให้แก่แผ่นดิน โดยคิดว่าต่อไปเรื่องนี้ต้องคุยกัน และรัฐสภาควรจะคุยเรื่องนี้กันในอนาคต ไม่ใช่ว่าหน่วยนี้ทำได้ หน่วยนี้ทำไม่ได้