มรสุมทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่าที่พาประเทศไทยเข้าสู่สภาวะ ‘วิกฤตศรัทธา’ เช่นปัจจุบันนี้ ปรากฏความชัดเจนขึ้นเรื่อยมาว่า ต้นตอสำคัญมาจากบทบาทและอำนาจของกลไกองค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วงด้านความเป็นกลาง และความเป็น ‘อิสระ’ ในแง่ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเท่าที่ควร แต่กลับเป็นเครื่องมือของฝั่งฝ่ายต่างๆ เพื่อชิงความได้เปรียบบนกระดานการเมือง
ความเห็นจากแวดวงนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ไม่น้อยแสดงความกังวลต่อการ ‘ก้าวล่วงเขตอำนาจอื่น’ ของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างการสร้างข้อจำกัดในการเสนอกฎหมายหรือนโยบาย หรือการถอดถอนฝ่ายบริหาร ด้วยข้อหามาตรฐานทางจริยธรรม ฉากทัศน์ที่ประเทศไทยเผชิญมา ถูกมองว่าเป็น ‘นิติสงคราม’ หรือยิ่งกว่านั้นคือ ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ครั้งใหม่
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงทัศนะต่อสื่อมวลชนทั้งในเรื่องบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ และความเห็นต่อกลไกองค์กรอิสระที่หยั่งรากลึกในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่สามารถสะท้อนให้เห็นโครงสร้างทางอำนาจว่า มีปัญหาอย่างไร ในมุมมองของผู้ที่อยู่ในโครงสร้างนั้นเอง
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ภาพ: ชยพล มาลานิยม
ไม่ใช่ ‘นิติสงคราม’ แต่เกี่ยวพันกับการเมือง?
ประธานศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธโดยสิ้นเชิงถึงข้อวิจารณ์ ‘นิติสงคราม’ โดยเห็นว่า เป็นคำที่พูดกันในสื่อมวลชนเท่านั้น พร้อมย้ำว่า ศาลทำตามอำนาจซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่พิจารณาคดีรัฐธรรมนูญซึ่งเข้ามาสู่ศาลได้จากหลายทาง
“ศาลก็มีกระบวนการพิจารณา ต้องฟังความเห็นทุกฝ่าย มีขั้นตอนการชี้แจงต่างๆ อีกมากมาย เราก็ต้องทำงานตามขั้นตอน ไม่ใช่การตัดสินด้วยอารมณ์ เราก็ต้องว่ากันตามกฎกติกา” นครินทร์กล่าว
ประธานศาลรัฐธรรมนูญยังขอให้สื่อมวลชนและประชาชนทำความเข้าใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้พิจารณาเฉพาะ “คดีการเมือง” อย่างที่เรียกกัน แต่ศาลรับพิจารณาคดีที่เป็นข้อพิพาทหรือความขัดแย้งที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ ซึ่งคดีส่วนใหญ่ก็มาจากศาลด้วยกัน เช่น ศาลปกครอง ศาลอาญา ได้ส่งเรื่องมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนมากคดีเหล่านี้ “สื่อมวลชนไม่ค่อยให้ความสนใจ”
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ภาพ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
อีกประเภทคือคดีที่มาจากองค์กรอิสระด้วยกัน เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคดีที่มาจากสมาชิกรัฐสภา คือคดีที่ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งประชาชนทั่วไปอาจเรียกว่าเป็น ‘คดีการเมือง’
แม้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจะให้คำตอบชัดเจนว่า หน้าที่ของศาลไม่พึงถูกมองว่ามีความเป็นการเมือง ทว่าหากพิจารณาจากข้อเท็จจริงตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้งได้สร้างจุดเปลี่ยนที่นำมาสู่ความแปรปรวนทางการเมืองไทยหลายครั้ง
ยังไม่นับรวม ‘บรรทัดฐาน’ ในแง่มุมต่างๆ ที่คำวินิจฉัยของศาลได้สร้างไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร ไม่เว้นแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ตาม
ในอนาคตอันใกล้นี้ คดีของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แพทองธาร ชินวัตร ที่เป็นผู้ถูกร้องว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงในกรณีคลิปเสียงสนทนากับ สมเด็จ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาของกัมพูชา ก็กำลังจะชี้ชะตาโดยศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน
พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา สว. เป็นตัวแทนกลุ่ม สว. รวมรายชื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีคลิปเสียงของนายกรัฐมนตรี
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
ต่อเรื่องนี้ ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และมือกฎหมายคนหนึ่งของรัฐบาลเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า คดีของนายกรัฐมนตรีถูกมองและตีความเป็นเรื่องการเมือง แต่คนทั่วไปแม้กระทั่งผู้ร้องเองกลับมองข้ามความเป็นจริงทางกฎหมาย ซึ่งส่วนตัวพิจารณาดูแล้วเห็นว่า กรณีของแพทองธารไม่เข้าข่ายความผิดฐานจริยธรรมใดๆ ด้วยซ้ำ
แต่เมื่อสื่อมวลชนถามถึงกรณี เศรษฐา ทวีสิน ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาแล้ว ด้วยข้อหาทางจริยธรรมเช่นกัน ชูศักดิ์เองไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว แต่ความเงียบนั้นย่อมเป็นคำตอบที่ดังกว่าว่า ในสำนึกของสังคม คำวินิจฉัยแต่ละครั้งของศาลรัฐธรรมนูญ ยากที่จะมองให้ขาดออกจากสภาพการเมืองได้
“ควรปรับปรุง” : การยอมรับจากคนในโครงสร้างอำนาจ
อีกประเด็นสำคัญคือ ประธานศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่า “ควรปรับปรุง” กลไกขององค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่ขอยังไม่ออกความเห็นว่าควรทำอย่างไร เพราะสถานะตอนนี้ยังคงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่
“เดี๋ยวรอให้พ้นตำแหน่ง ผมจะพูดให้เต็มที่ว่าควรจะปรับปรุงอย่างไร” นครินทร์กล่าว
ก่อนดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ นครินทร์มีบทบาทสำคัญในแวดวงวิชาการ และมีประสบการณ์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญถึง 2 ครั้ง โดยเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในปี 2549-2550 และ กรธ. ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในปี 2557-2558
เขาได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยผ่านกระบวนการเสนอชื่อต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และได้รับความเห็นชอบในการประชุมลับ จากนั้นได้รับเลือกจากที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567
สัญญาณดังกล่าวบ่งบอกได้หลายความหมาย หนึ่งในนั้นคือ กลไกองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ‘มีปัญหาจริง’ ด้วยการยอมรับจากผู้ที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจนั้น และอีกประการอาจเป็นความกังวลว่า หากปล่อยให้กลไกนี้ดำเนินต่อไป จนถึงที่สุดแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดกับการเมืองไทยและประเทศอาจไม่พึงปรารถนา จึงเห็นว่า ‘ควรปรับปรุง’
พริษฐ์ วัชรสินธุ พร้อมด้วย สส. พรรคประชาชน ร่วมกันยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
ก่อนหน้านี้ไม่นาน พรรคประชาชนได้พยายามผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง และได้ยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปเมื่อ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา เนื้อหาทั้ง 3 ร่างที่พรรคประชาชนเสนอไป มีแนวคิดเพื่อสร้างศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ไม่เป็นอิสระจากประชาชน
ประเด็นหลัก คือ การแก้ไขว่าด้วยกระบวนการที่มาและกระบวนการสรรหาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ จากเดิมมีการสรรหาและเสนอชื่อ ผ่านคณะกรรมการสรรหา ซึ่งเป็นช่องทางเดียว ส่วนที่แก้ไขคือให้มีการเสนอชื่อได้ หลายช่องทาง ทั้งจากที่ประชุมศาล ช่องทางจาก สส.รัฐบาล ช่องทาง สส.ฝ่ายค้าน และช่องทางของ สว.
รวมถึงแก้ไขในประเด็นการคัดเลือกและเห็นชอบ จากเดิมที่ต้องใช้การลงมติของ สว. โดยแก้ไขให้มาจากการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา และต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา รวมถึงมีเงื่อนไขกำหนดว่าต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของ สส.ฝ่ายรัฐบาล สส.ฝ่ายค้านด้วย
ความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นองค์กรอิสระนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เสียงโหวตในสภาฯ อาจเป็นตัวตัดสิน แต่แรงผลักดันที่แท้จริงอาจเกิดขึ้นจากภายใน ไม่แน่ว่าความเห็นของประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า “ควรปรับปรุง” จะเป็นสัญญาณแห่งการเริ่มต้นหรือไม่
เจตนารมณ์จากรัฐธรรมนูญ สู่สภาพความเป็นจริง
แนวคิดเรื่องกลไกองค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นอย่างจริงจังในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือที่เรียกว่า ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อสร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ เพื่อให้การเมืองมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบ
เมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กลไกองค์กรอิสระยังคงถูกรักษาไว้ และในบางแง่มุม อำนาจขององค์กรเหล่านี้กลับถูกขยายออกไปมากขึ้น โดยเฉพาะอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่สามารถวินิจฉัยคดีที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลและพรรคการเมืองได้โดยตรง
คำถามสำคัญคือ สภาพการเมืองทุกวันนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้องค์กรอิสระเป็นกลไกถ่วงดุลอำนาจอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือองค์กรอิสระเหล่านี้ได้ตกเป็น ‘เครื่องมือ’ ในการห้ำหั่นกันของฝ่ายการเมือง ดังที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต
ในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ วุฒิสภาจะมีการลงมติให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คนใหม่ ซึ่งหากการเลือกเป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน ก็จะพ้นวาระลง ซึ่งอาจเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้รับฟังความเห็นจากอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่มาอย่างยาวนานว่า ‘ควรปรับปรุง’ รัฐธรรมนูญในประเด็นองค์กรอิสระอย่างไร เพื่อให้กลไกเหล่านี้กลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชน และทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง
อนาคตขององค์กรอิสระและเสถียรภาพทางการเมืองไทยจึงยังคงเป็นคำถามที่รอคำตอบ ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ และการสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาในสายตาของประชาชน