ทีมนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียและจีน นำโดยศาสตราจารย์หยูหมิงกั๋ว (Yuming Guo) จากคณะสาธารณสุขศาสตร์และเวชศาสตร์ป้องกัน มหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่งานศึกษาวิจัยฉบับแรกของโลกเกี่ยวกับ ‘มลพิษทางอากาศรายวันทั่วโลก’ ซึ่งเก็บข้อมูลจากทั่วโลกระหว่างปี 2000-2019 และพบข้อมูลอันน่าตกตะลึงว่ามีพื้นที่บนโลกถึง 99.82% ที่เผชิญกับมลพิษของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 สูงกว่าระดับมาตรฐานความปลอดภัยที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือพูดง่ายๆ คือ “แทบไม่มีพื้นที่ไหนบนโลกที่ปลอดภัยจาก PM2.5” และมีประชากรโลกเพียง 0.001% เท่านั้นที่ได้สูดอากาศบริสุทธิ์และปลอดภัยต่อสุขภาพ
งานวิจัยดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ในวารสารการแพทย์ชื่อดัง The Lancet Planetary Health เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เก็บข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 5,446 แห่งใน 65 ประเทศ โดยทีมวิจัยใช้การสังเกตการณ์ติดตามคุณภาพอากาศแบบดั้งเดิม เครื่องตรวจจับมลพิษทางอุตุนิยมวิทยาและอากาศที่ใช้ดาวเทียม วิธีการทางสถิติ และการเรียนรู้ด้วยเครื่อง เพื่อประเมินความเข้มข้นของ PM2.5 ทั่วโลกได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
โดยเกณฑ์ที่ใช้เปรียบเทียบในงานวิจัยฉบับนี้คือค่ามาตรฐานความปลอดภัย PM2.5 หรือ ‘เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ’ (Air Quality Guidelines: AQGs) ของ WHO ที่มีการปรับเมื่อปี 2021 โดยกำหนดให้ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยจะต้องไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
แต่จากข้อมูลวิจัยพบว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหลายพื้นที่ของโลกมีค่า PM2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าระดับปลอดภัยของ WHO หลายเท่า
ค่าเฉลี่ย PM2.5 ในภูมิภาคต่างๆ
- งานวิจัยชี้ว่า ตลอดระยะเวลาร่วม 20 ปี ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเผชิญกับสถานการณ์ฝุ่นพิษเลวร้ายที่สุดในโลก โดยมีค่า PM2.5 เฉลี่ยรายปีสูงสุดถึง 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือเอเชียใต้ 37.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และแอฟริกาเหนือ 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
- โดยทั้งเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้นั้นต่างมีค่าความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงสูงกว่าเกณฑ์ของ WHO ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
- ส่วนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีค่าเฉลี่ย PM2.5 ตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาอยู่ที่ 8.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่มีจำนวนวันที่ค่าความเข้มข้นของ PM2.5 อยู่ในระดับสูง เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปี 2019
- ยุโรปและอเมริกาตอนเหนือมีค่าความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยรายปีลดลงในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่เอเชียใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อเมริกาใต้ และหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน กลับเป็นภูมิภาคที่มีฝุ่น PM2.5 เพิ่มสูงขึ้น
- ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ย PM2.5 ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2000-2019 อยู่ที่ 32.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยในปี 2019 พบว่ามากกว่า 70% ของวันมีระดับความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยสูงกว่า 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
แหล่งกำเนิดและการเพิ่มขึ้นของ PM2.5 ตามฤดูกาล
- บางพื้นที่ของโลกพบว่ามลพิษทางอากาศนั้นสูงขึ้นตามฤดูกาลหรือช่วงเวลาของแต่ละปีด้วย ตัวอย่างเช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนมีระดับฝุ่นละอองเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งทีมวิจัยชี้ว่าอาจเป็นผลจากทั้งรูปแบบของสภาพอากาศในช่วงฤดูหนาว และการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อให้ความร้อนที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็น
- ขณะที่ประเทศต่างๆ แถบผืนป่าแอมะซอน เช่น บราซิล มีระดับฝุ่นละอองสูงขึ้นช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการที่เกษตรกรแผ้วถางพื้นที่ด้วยการจุดไฟเผา
ฝุ่นมรณะ อันตรายถึงชีวิต
- มลพิษทางอากาศนั้นคร่าชีวิตผู้คนบนโลกมากถึงปีละกว่า 6.7 ล้านคน โดยเกือบ 2 ใน 3 ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเป็นเพราะฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 ที่สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์จากการสูดลมหายใจ ผ่านเข้าไปถึงระบบทางเดินหายใจส่วนลึก เข้าไปถึงกระแสเลือด และก่อให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ เช่น มะเร็งปอด โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
- ขณะที่การวัดปริมาณ PM2.5 ทั่วโลกยังถือเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากจำนวนสถานีตรวจวัดมลพิษที่ยังมีจำนวนน้อย
- โดยศาสตราจาร์ยกั๋วคาดหวังว่างานวิจัยฉบับนี้จะสามารถเปลี่ยนความคิดของนักวิทยาศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการเผชิญ PM2.5 ในแต่ละวันได้
“การสัมผัส PM2.5 ในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ หากเราสามารถทำให้ทุกวันมีอากาศบริสุทธิ์ แน่นอนว่าการสัมผัสมลพิษทางอากาศในระยะยาวจะดีขึ้น”
สถานการณ์ PM2.5 ในไทย
- ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานการณ์ PM2.5 ในไทย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เผชิญกันมาหลายปี และเป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้
- ต้องเข้าใจก่อนว่า PM2.5 ในไทยเกิดมานานแล้ว แต่เพิ่งมาเป็นประเด็นหลักๆ ที่คนสนใจตั้งแต่ช่วงต้นปี 2019 (ราวๆ ต้นเดือนมกราคม) ซึ่งกรุงเทพฯ ถือว่าวิกฤตมาก เพราะลมนิ่งมากในช่วงนั้น
- ปกติแล้วปัญหาคุณภาพอากาศนั้นเรื้อรังมานานนับสิบปีในหลายพื้นที่ของประเทศ เช่น ภาคเหนือตอนบนในช่วงฤดูหนาว ภาคอีสานในช่วงฤดูเผาเศษชีวมวลทางการเกษตร
- ขณะที่แหล่งกำเนิดแต่ละที่จะไม่เหมือนกัน เช่น ในกรุงเทพฯ อันดับ 1 เกิดจากไอเสียยานพาหนะ
- แต่แหล่งกำเนิดนั้นไม่ใช่ค่าตายตัว โดยงานวิจัยที่ค้นพบสัดส่วนแหล่งกำเนิดของแต่ละช่วงเวลา เช่น ปีนี้กับปีหน้า ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
- อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา งานวิจัยจากนักวิชาการส่วนใหญ่ชี้ว่าแหล่งกำเนิดจากไอเสียยานพาหนะคืออันดับ 1
- ที่น่าสนใจคือใน ‘ช่วงนี้’ สัดส่วนแหล่งกำเนิด PM2.5 ในกรุงเทพฯ ที่มาจากการเผาชีวมวลเริ่มเพิ่มขึ้น โดยเป็นการเผาเศษชีวมวลในภาคการเกษตรรอบๆ กรุงเทพฯ ระบุให้ชัดคือมาจากการเผาอ้อย
- แหล่งกำเนิด PM2.5 อื่นๆ ยังรวมถึงมลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน และมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรม
- สำหรับในตอนนี้ ภาคเหนือตอนบนปฏิเสธไม่ได้ว่าการเผาชีวมวลในภาคการเกษตรมีผลแน่นอน
PM2.5 ในกรุงเทพฯ และภาคเหนือ เกิดจากอะไร?
ค่าเฉลี่ย PM2.5 ต่อปีในกรุงเทพฯ เกิดจากไอเสียยานพาหนะมากที่สุด โดยข้อมูลงานวิจัยจาก ดร.โฉมศรี ชูช่วย คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2020 ระบุแหล่งกำเนิด PM2.5 ในกรุงเทพฯ ได้แก่
- ไอเสียยานพาหนะ 43.7%
- เผาเศษชีวมวล 24%
- แหล่งกำเนิดผสมอื่นๆ 10.5%
- โรงไฟฟ้า 6.48%
- ภาคอุตสาหกรรม 4.46%
ส่วนค่าเฉลี่ย PM2.5 ต่อปีในเขตจังหวัดทางภาคเหนือ แหล่งกำเนิดส่วนใหญ่ก็ยังมาจากไอเสียยานพาหนะ เนื่องจากการเผาชีวมวลในพื้นที่ป่านั้นไม่ได้มีการเผาตลอด ปีหนึ่งอาจจะเผาแค่ประมาณ 3 เดือน
PM2.5 มีทั้ง ‘ดี’ และ ‘ไม่ดี’
- ที่หลายคนยังเข้าใจผิดคือ ฝุ่น PM2.5 นั้นไม่ใช่มีแต่ PM2.5 ที่ไม่ดีและเป็นอันตราย แต่มีทั้งดีและไม่ดี
- อธิบายให้ชัด PM2.5 คืออนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ดังนั้นนอกจาก PM2.5 ที่ไม่ดี ยังมี PM2.5 ที่ดี ที่มาจากแหล่งกำเนิดธรรมชาติ ทั้งป่า ทะเลทราย หรือแม้แต่ไอเกลือจากมหาสมุทร (หากดูภาพดาวเทียมที่มอนิเตอร์ PM2.5 จะเห็นว่า PM2.5 จะไปกระจุกตัวในพื้นที่ทะเลทราย เช่นแถบแอฟริกา PM2.5 สูงมาก)
- เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึง PM2.5 ต้องแยกก่อนว่ามันเป็น PM2.5 ที่ดี ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ได้ก่อผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ หรือ PM2.5 ที่ไม่ดี ที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม การสันดาปเชื้อเพลิงฟอสซิล ไอเสียยานพาหนะ หรือการเผาเศษชีวมวล ซึ่งพวกนี้เป็นตัวที่ก่อให้เกิดมะเร็ง การกลายพันธุ์ และโรคร้ายอีกหลายชนิด
ปัญหาหลักของสถานการณ์ PM2.5 ในไทย?
- สำหรับปัญหาของ PM2.5 ในไทยคือ ความน่ากลัวแท้จริงคือการ ‘เหมายกเข่ง’ หรือเหมารวมทั้ง PM2.5 ที่ดีและไม่ดีเข้าด้วยกันหมด ไม่มีการแยกให้ชัดเจน ไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานในการควบคุมสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ
- โดยดัชนีชี้วัด PM2.5 ของไทยมีแค่บอกว่ามีค่า PM2.5 ในชั้นบรรยากาศมากหรือน้อย แต่ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนถึงสิ่งที่อยู่ในตัวเลขดัชนีชี้วัดว่ามีอะไรบ้าง มี PM2.5 ที่ไม่ดี หรือเป็นสารก่อมะเร็งหรือโลหะหนักในสัดส่วนเท่าไร
- ประเทศพัฒนาแล้วต่างกำหนดค่ามาตรฐานในการควบคุมสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศของสารเบนโซ(เอ)ไพรีน (Benzo[a]pyrene) ซึ่งจัดเป็นสารพีเอเอชที่มีความเป็นพิษในการก่อให้เกิดมะเร็งสูงสุดไว้ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือองค์การอนามัยโลก กำหนดไว้ไม่เกิน 1.0 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อังกฤษไม่เกิน 0.25 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
- เยอรมนี สวีเดน อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส หรือแม้แต่อินเดีย ต่างก็กำหนดค่ามาตรรฐานในการควบคุมสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ แต่ไทยเรายังไม่มี
ทำไมจึงจำเป็นต้องมีค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ?
- คำตอบคือ ทุกอย่างต้องเริ่มจากค่ามาตรฐาน เช่น หากเราป่วยเป็นโรคเบาหวานแต่เราไม่รู้ตัว การที่เราจะรู้ได้นั้นต้องเช็กน้ำตาลในเลือด และเมื่อพบว่าสูงกว่าค่ามาตรฐานจึงนำไปสู่การป้องกันด้วยการงดหรือควบคุมอาหาร หรือการรักษาด้วยการฉีดอินซูลินในกรณีวิกฤต
- ดังนั้นก่อนที่เราจะไปถึงขั้นวิกฤต เราต้องรู้ก่อนว่าค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศเป็นเท่าไร แต่ในเมื่อยังไม่มีค่ามาตรฐานนี้ ภาครัฐก็ยังไม่จำเป็นต้องไปตรวจวัด กรรมก็ตกที่ประชาชน ซึ่งไม่รู้ว่าสูดเอาสารก่อมะเร็งเข้าไปเท่าไร
- เมื่อเทียบกับอย่างอื่น เช่น อาหาร น้ำดื่ม ยังมีการกำหนดมาตรฐานควบคุมความสะอาดอย่างดี แต่อากาศนั้นเรากลับไม่มีสิทธิ์เลือก ทำได้อย่างมากคือป้องกันเอง ใส่หน้ากากอนามัย ใช้เครื่องฟอกอากาศ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คือสิทธิในการสูดอากาศบริสุทธิ์เพื่อหายใจ
AQI ของไทยไม่มีค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ?
- Air Quality Index (AQI) คือดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ โดยสูตรของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน บางประเทศอย่างอินเดียมีค่า AQI ที่ละเอียดมากอันดับต้นๆ ของโลก มีการวัดค่าแอมโมเนีย (จากภาคการเกษตร) ตะกั่ว (จากน้ำมันที่ยังมีสารตะกั่ว)
- ของกรมควบคุมมลพิษ AQI เพิ่งจะมาเริ่มมีการใส่ PM2.5 เข้าไปเป็นพารามิเตอร์เมื่อไม่กี่ปีมานี้ (ก่อนหน้านี้มีแต่ PM10) แต่ไม่มีค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ
ไทยกำลังรับมือสถานการณ์ไปโดยไม่มีข้อมูล?
- สำหรับคำถามว่า ทางการไทยกำลังรับมือสถานการณ์นี้โดยไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนหรือไม่ คำตอบจาก ศ.ดร.ศิวัช คือ “ธรรมชาติภาครัฐของไทย จะทำตามเท่าที่กฎหมายบังคับให้ทำเท่านั้น”
- หมายความว่า ถ้าเราอยากจะให้ข้าราชการ รัฐบาล รับมือสถานการณ์ PM2.5 ได้โดยมีข้อมูลค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ ก็ต้องใช้กฎหมายบังคับ เช่น การบรรจุเรื่องการตรวจสอบค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศไว้ใน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ยังเป็นความหวังในรัฐบาลสมัยหน้า
พ.ร.บ.อากาศสะอาด ความหวังรับมือฝุ่นพิษ
- ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะถึงนี้ พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะต้องเป็นนโยบายที่ให้แต่ละพรรคการเมืองแสดงจุดยืนว่าจะเอาหรือไม่เอา และถ้าเอา มีการออกแบบ พ.ร.บ.อากาศสะอาดไว้อย่างไร
- ศ.ดร.ศิวัช เสนอว่าสิ่งสำคัญที่ควรมีหลักๆ ใน พ.ร.บ.สะอาดนั้น เช่น ค่ามาตรฐานอย่างค่าสารก่อมะเร็ง สารพิษอื่นๆ, กลไกการส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ลดการใช้รถยนต์สันดาป ตลอดจนมาตรการส่งเสริมวนเกษตร (Agroforestry Farming) ที่ประชาชนได้ประโยชน์ และการควบคุมแหล่งกำเนิดภาคอุตสาหกรรม เช่น ใช้แนวคิดจาก UN ที่เรียกว่า แนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BEP)
ทั้งนี้ การรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในไทยถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเอาจริงเอาจัง โดยแนวทางการรับมือนั้น ศ.ดร.ศิวัช ให้ข้อเสนอแนะในระยะสั้นและระยะยาวดังนี้
ระยะสั้น
- ภาครัฐควรออกคำสั่ง Work from Home ช่วงที่ PM2.5 หนักๆ และทำให้เป็น New Normal
- หากต้องไปทำงาน ให้สวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 ที่ทำงานต้องมีเครื่องฟอกอากาศ
- กรณีภาคเหนือตอนบน ต้องจัดการกับคนที่เผาชีวมวลให้ได้ ต้องมีการสนับสนุนงบประมาณให้เจ้าหน้าที่/อาสา
- สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีช่วยในการดับไฟเชิงรุก เช่น โดรนลาดตระเวนจำนวนมาก ติดลูกบอลสารเคมีดับไฟ หาจุดฮอตสปอต แล้วไล่ดับก่อนที่ไฟจะลุกลามเป็นเพลิงขนาดใหญ่
ระยะยาว
- ภาครัฐต้องมีค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ
- พ.ร.บ.อากาศ สะอาดต้องมี ผลักดันให้เป็นระดับภูมิภาค เพราะมลพิษมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยชี้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ
- ภาครัฐส่งเสริมการเลิกเผาชีวมวล ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เอาชีวมวลมาผลิตไฟฟ้า ปุ๋ยหมัก ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เน้นผลผลิตการเกษตรที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ
- ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ในพื้นที่ป่า ภูเขา เนื่องจากรถแทรกเตอร์เข้าไปไม่ถึง ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องใช้การเผาในการแผ้วถางพื้นที่
- ภาครัฐควรส่งเสริมให้ทำวนเกษตร หรือระบบเกษตรกรรมที่ทำในพื้นที่ป่า เช่น ปลูกพืชอย่างเมล็ดโกโก้ กาแฟ แซมในพื้นที่ป่า นำสัตว์ไปเลี้ยงในป่า เก็บผลผลิตจากป่ามาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
- ต้องทำให้ประชาชนฉุกคิด รักและหวงแหนป่า มองว่าป่าเป็นที่ทำกิน
- การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง ห้ามเผาชีวมวลในช่วงสภาพอากาศปิด อัตราการระบายอากาศต่ำ
- รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ลดใช้รถยนต์สันดาป ชี้ให้เห็นข้อดีและจุดคุ้มทุน
ภาพ: Priyanka Parashar / Mint via Getty Images
อ้างอิง: