ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติส่งสัญญาณหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ธปท. จะไม่รีบเร่งในการลดดอกเบี้ยต่อ และจะปกป้องเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบัน ท่ามกลางการเรียกร้องของรัฐบาลให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg Television เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (22 ตุลาคม) โดยส่งสัญญาณว่าโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกค่อนข้างยาก พร้อมระบุว่า การชะลอตัวของการเติบโตของสินเชื่อเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ ธปท. ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
คำกล่าวของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติแสดงให้เห็นว่า กนง. อาจใช้เวลาพอสมควรในการลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง ซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลอีก เนื่องจากรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ยังคงต้องการลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง และปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อให้สูงขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติกล่าวย้ำว่า แรงกดดันจากรัฐบาลจะไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้ธนาคารกลางตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย เขาย้ำอีกว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการค่อยๆ ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเท่านั้น (Recalibrate) จะไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวัฏจักรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (Easing Cycle)
ทั้งนี้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติจะพบปะกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังช่วงปลายเดือนนี้ เพื่อตกลงเป้าหมายเงินเฟ้อในปีหน้า โดยผู้ว่าฯ แบงก์ชาติมองว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบันที่ 1-3% ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยกรอบดังกล่าวช่วยตรึงคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตได้
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติให้สัมภาษณ์ขณะอยู่ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ระหว่างเข้าร่วมการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกว่า “หากมีการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อขึ้น ความคาดหวังว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในอนาคตก็จะสูงขึ้น และส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นและผลตอบแทนพันธบัตรก็สูงขึ้นตามไปด้วย
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติแสดงความเห็นว่า คิดว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) สามารถวางแผนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้อย่างราบรื่น โดยเน้นย้ำว่า สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือความไม่แน่นอนจะเกิดขึ้นในแนวนโยบายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวยังคงส่งผลกระทบต่อภูมิภาคนี้ รวมถึงการส่งออกและการท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติกล่าวว่า เศรษฐกิจของไทยจะตามหลังการขยายตัวของประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนจำนวนมหาศาล และภาคการผลิตที่ดิ้นรนเพื่อรับมือกับการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีน แต่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยืนกรานว่า ภาษีศุลกากรไม่ใช่ทางแก้ไขสำหรับปัญหาในปัจจุบัน
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติกล่าวว่า การตัดสินใจเรื่องภาษีศุลกากรเป็นเรื่องใหญ่และเต็มไปด้วยผลกระทบมากมาย ขณะนี้มีความวุ่นวายเพียงพอแล้วในด้านการค้า ดังนั้นการตัดสินใจดังกล่าวต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก
อ้างอิง: