กรมสรรพสามิตเล็งเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เร็วสุดปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียน ต่อจากสิงคโปร์ สำหรับอัตราเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 200 บาทต่อตัน หรือไม่ถึง 6 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเป็นระดับที่ IMF มองว่า ‘ต่ำเกินไป’ ที่จะช่วยลดการปล่อยมลพิษลงได้
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เผยว่าเตรียมเริ่มเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) คาดเร็วสุดจะเริ่มเก็บในช่วงปลายปีนี้ หรือภายในปีงบประมาณ 2568 (ซึ่งเริ่มในเดือนตุลาคม 2567) ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียน ต่อจากสิงคโปร์ ที่เริ่มเก็บภาษีคาร์บอน โดยในระยะแรกจะเริ่มเก็บจากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เชื่อมโยงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อน
ยืนยันระยะแรกประชาชน ‘ไม่ได้’ รับผลกระทบ
อธิบดีกรมสรรพสามิตยืนยันว่า ในระยะแรกการเก็บภาษีคาร์บอนนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากเป็นการแปลงภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่เก็บอยู่แล้วปัจจุบันให้ไปผูกติดกับภาษีคาร์บอน
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีจากน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 6.44 บาทต่อลิตร และเก็บภาษีจากน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 6.50 บาทต่อลิตร
ดร.เอกนิติ ยังอธิบายต่อว่า การแปลงภาษีดังกล่าวเป็นการแก้กฎหมายชั้นกฎกระทรวงเท่านั้น ทำให้จำเป็นต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องออกเป็น พ.ร.บ.ใหม่ เหมือนกับที่กรมสรรพสามิตเคยเปลี่ยนวิธีการเก็บอัตราภาษีรถยนต์จากอิงตามกระบอกสูบ เป็นอิงตามคาร์บอนที่ปล่อยออกมาแทน
ทั้งนี้ ดร.เอกนิติ เปิดเผยว่า น้ำมันดีเซล 1 ลิตร ปล่อยคาร์บอน 0.0026987 ตันคาร์บอน ขณะที่น้ำมันเบนซิน 1 ลิตร ปล่อยคาร์บอน 0.0021816 ตันคาร์บอน
ไทยเตรียมเก็บ ‘ภาษีคาร์บอน’ ในอัตราเท่าไร?
อธิบดีกรมสรรพสามิตเปิดเผยอีกว่า สำหรับอัตราเบื้องต้นที่เสนอรัฐมนตรีไปอยู่ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกับสิงคโปร์ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน
IMF มอง ‘ภาษีคาร์บอน’ เอเชียต่ำเกินไปที่ช่วยโลกได้
ก่อนหน้านี้ คริสตาลินา จอร์จีวา ผู้นำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยระบุว่า ราคาคาร์บอนควรจะต้องอยู่ที่ประมาณ 75 ดอลลาร์ต่อตัน (หรือราว 2,745 บาทต่อตัน) ภายในปี 2030 หากต้องการจะจำกัดภาวะโลกร้อน ‘อย่างมีประสิทธิภาพ’ จากราคาเฉลี่ยปัจจุบันที่ 6 ดอลลาร์ต่อตัน (หรือราว 220 บาทต่อตัน)
ขณะที่ในข้อตกลงราคาคาร์บอนระหว่างประเทศ (International Carbon Price Floor Agreement: ICPF) เสนอให้กำหนดราคาคาร์บอนขั้นต่ำที่ 25 ดอลลาร์ต่อตันสำหรับประเทศรายได้ต่ำ (Low-Income Countries) และ 50 ดอลลาร์สำหรับประเทศรายได้ปานกลาง (Middle-Income Countries) และ 75 ดอลลาร์สำหรับประเทศรายได้สูง (High-Income Countries) เพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ราคาคาร์บอนในตลาดคาร์บอนและภาษีคาร์บอนของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่กลับอยู่ในระดับ ‘ต่ำ’ และไม่สามารถสร้างผลกระทบ ‘อย่างมีนัยสำคัญ’ ต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้
โดยญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่เรียกเก็บภาษีคาร์บอนในปี 2012 กำหนดให้เก็บภาษีไว้ที่ 289 เยน (ราว 2 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 1 ตัน
ส่วนภาษีคาร์บอนของสิงคโปร์ ปัจจุบันอยู่ที่ 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือราว 3.7 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อตัน อย่างไรก็ดี สิงคโปร์เตรียมที่จะปรับเพิ่มภาษีคาร์บอนเป็น 25 ดอลลาร์ต่อตันในปี 2024
ขณะที่จีนและเกาหลีใต้ก็มีระบบ ETS แล้ว โดยมีราคาซื้อขายอยู่ที่ราว 11 ดอลลาร์ต่อตัน และกว่า 20 ดอลลาร์ต่อตัน ตามลำดับ
ในส่วนประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และปากีสถาน มีการวางแผน หรือกำลังพิจารณาที่จะสร้างเครื่องมือกลไกราคาคาร์บอนทั้งแบบการซื้อขายและการเก็บภาษี
ทั้งนี้ ระบบการซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) เป็นกลไกทางการตลาดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งรัฐหรือผู้มีอำนาจกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวม และจัดสรร (Allocation) ‘สิทธิ’ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่องค์กรที่อยู่ภายใต้ระบบ
มาตรการภาษีคาร์บอนของไทย ‘ระยะแรก’ มีข้อดีอย่างไร?
- กำหนดราคาคาร์บอนไม่ให้ต่ำเกินไป
ดร.เอกนิติ ระบุอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเครื่องมือกลไกราคาคาร์บอน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบ ‘ภาคสมัครใจ’ เท่านั้น ทำให้ราคาต่ำมาก ดังนั้น การเก็บภาษีดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีราคาคาร์บอน (Carbon Price) ที่รัฐเป็นคนกำหนดขึ้น
- ช่วยทำให้ไทยบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ถึง Net Zero
ดร.เอกนิติ กล่าวอีกว่า ไทยได้ประกาศเป้าหมายว่า ภายในปี 2030 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30-40% จากการดำเนินการตามปกติ เพื่อจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ไทยมีเครื่องมือกลไกราคาคาร์บอนแบบ ‘ภาคสมัครใจ’ เท่านั้น และจะไม่มีกลไกคาร์บอน ‘ภาคบังคับ’ จนกว่าตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (TH ETS) จะเกิดขึ้นในปี 2029
ดังนั้น การที่กรมสรรพสามิตตั้งภาษีคาร์บอนขึ้นมาก็จะเป็นการสนับสนุนกลไกในทางหนึ่งได้ เนื่องจากปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 372 ล้านตันคาร์บอนต่อปี โดยราว 70% ของการปล่อยนี้มาจากภาคพลังงานและขนส่ง ซึ่งสินค้าจาก 2 ภาคส่วนนี้เป็นสินค้าที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บอยู่แล้ว เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลและเบนซิน
- หวังลดภาระผู้ประกอบการไทย รับมือ CBAM
อธิบดีกรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า ขณะนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกำลังทำงานร่วมกับกรมสรรพสามิต เพื่อเข้าไปเจรจากับสหภาพยุโรป (EU) ที่เตรียมบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มกราคม 2026 นี้ เกี่ยวกับการยอมให้นำการชำระภาษีคาร์บอนของไทยไปหักลบได้
ทั้งนี้ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ของสหภาพยุโรป เป็นการเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสีเขียวเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ของ EU โดยสินค้า 5 กลุ่มแรกที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอะลูมิเนียม
ดร.เอกนิติ เปิดเผยอีกว่า ในระยะที่ 2 (Phase II) ระหว่างปี 2027-2028 อาจเริ่มขยายการเก็บภาษีคาร์บอนไปยังผลิตต้นน้ำต่างๆ ขณะที่ในระยะที่ 3 (Phase III) ระหว่างปี 2029-2023 อาจมีการปรับขึ้นราคาคาร์บอนเพื่อให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม และให้สอดคล้องกับระบบ ETS
เปิดข้อเสนอจาก TDRI ต่อภาษีคาร์บอนไทย
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้แสดงแนวทางการจัดการปัญหาคาร์บอนของประเทศไทย ในงาน EARTH JUMP 2024: The Edge of Action ที่จัดโดยธนาคารกสิกรไทย โดยแนะนำว่า ภาษีคาร์บอนเหมาะสมกับประเทศไทย ‘มากกว่า’ ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS)
ด้วยเหตุผลต่างๆ ได้แก่ รัฐบาลมีกลไกการดำเนินการเก็บภาษีอยู่แล้วจากทางฝั่งกรมสรรพสามิต ไม่ต้องสร้างตลาดรองสำหรับการซื้อขายการปล่อยก๊าซคาร์บอน อีกทั้งภาคธุรกิจสามารถวางแผนได้ง่ายเพราะรู้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาได้อย่างแน่ชัด นอกจากนี้นานาชาติก็จะให้การยอมรับได้ง่าย
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้แนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ดร.สมเกียรติ เสนอว่า ประเทศไทยควรใช้ภาษีคาร์บอน 2 ระบบ
- ภาษีส่งออกคาร์บอนในสาขา CBAM
โดยประเทศไทยควรจะเก็บภาษีส่งออกคาร์บอนจากโรงงานผลิตสินค้าในตลาด CBAM ก่อนจะส่งออกสินค้า และควรเก็บภาษีในอัตราสูงใกล้เคียงกับราคาคาร์บอนในตลาด CBAM
เนื่องจากนอกจากภาครัฐจะได้รายได้จากการเก็บภาษีแล้ว ผู้ประกอบการที่ต้องส่งสินค้าไปค้าขายยังตลาด CBAM ก็จะไม่ต้องเสียภาษีคาร์บอนซ้ำซ้อนในอัตราที่สูงกว่า
อีกทั้งการเสียภาษีคาร์บอนให้กับประเทศไทยก่อนส่งออกสินค้ายังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้าในต่างประเทศในการจัดการปัญหาคาร์บอนอีกด้วย
- ภาษีคาร์บอนพลังงาน
โดยจะเป็นการเก็บภาษีจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและผู้ค้าน้ำมันตลอดจนสินค้านำเข้าในบางอุตสาหกรรม โดยเก็บตามปริมาณคาร์บอนในเชื้อเพลิง ซึ่งอาจเริ่มจากอัตราภาษีต่ำ ก่อนจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีจุดประสงค์หลักเพื่อจูงใจให้ลดการปล่อยคาร์บอนและสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐ
ไทยจะได้รับผลกระทบอะไรจากแนวทางเก็บภาษีดังกล่าว
ดร.สมเกียรติ ระบุว่า หากประเทศไทยมีอัตราการเก็บภาษีเริ่มต้น 5 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน จะสามารถสร้างรายได้ปีละ 3 หมื่นล้านบาท โดยจะส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.1% ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.4% และราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1.8% แต่จะทำให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนลดลง 1.1 ล้านตันต่อปี หรือราว 0.4%
นอกจากนี้ ดร.สมเกียรติ ยังเสนอว่า รัฐไม่ควรให้เงินอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลอีก เพราะจะไม่จูงใจให้ผู้คนหันมาประหยัดพลังงาน อีกทั้งยังปล่อยมลพิษสูง
ท้ายที่สุด ดร.สมเกียรติ ยังเน้นย้ำว่า ควรตั้งกองทุน Green Transition & Adaptation Fund สำหรับบริหารจัดการรายได้ที่ได้จากเก็บภาษีคาร์บอน โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น คนทำงานกลางแจ้ง และช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในการปรับตัว และไม่ควรนำรายได้ดังกล่าวส่งให้กับกระทรวงการคลัง เนื่องจากรัฐบาลอาจนำเงินดังกล่าวไปใช้กับนโยบายแจกเงินและการใช้หนี้ของภาครัฐ