×

เจาะลึกผลสำรวจรถยนต์ไทย! แม้ EV มาแรง แต่ปัญหาคุณภาพยังท้าทาย Tesla เจ้าเดียวเท่านั้นที่ครองใจผู้ใช้

22.12.2024
  • LOADING...
thai-car-survey-ev-quality-tesla-dominates

นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) เปิดเผยผลสำรวจคุณภาพรถยนต์ในไทยล่าสุด จากผู้ซื้อรถใหม่กว่า 3,390 คน สะท้อนให้เห็นความท้าทายครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของวงการยานยนต์

 

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าในไทยส่วนใหญ่เป็น ‘คนรุ่นใหม่’ อายุต่ำกว่า 40 ปี คิดเป็น 66% และ 41% มีรายได้สูงถึง 95,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ที่น่าสนใจคือ 81% ของผู้ใช้รถ EV เคยใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมาก่อน สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของผู้บริโภคที่มีความคาดหวังสูงในเรื่องประสบการณ์การขับขี่และความสะดวกสบาย

 

การสำรวจใช้ดัชนีวัดคุณภาพที่เรียกว่า PP100 (จำนวนปัญหาที่พบต่อรถยนต์ 100 คัน) โดยคะแนนยิ่งต่ำยิ่งแสดงถึงคุณภาพที่สูง ผลปรากฏว่ารถยนต์ไฟฟ้าประสบปัญหาสำคัญ 3 ด้านหลัก ที่ผู้ผลิตจำเป็นต้องเร่งแก้ไขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

 

ประการแรก ‘ประสบการณ์ในการขับขี่’ โดยเฉพาะปัญหาระบบกันสะเทือนที่ส่งผลต่อความสะดวกสบาย พบปัญหาถึง 22.3 PP100 สูงกว่ารถยนต์ทั่วไปที่พบเพียง 12.6 PP100 สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการออกแบบระบบช่วงล่างสำหรับรถยนต์ที่มีน้ำหนักมากกว่าปกติเนื่องจากแบตเตอรี่

 

ประการที่สอง ‘ระบบปรับอากาศ’ ซึ่งทำงานไม่เป็นที่น่าพอใจ เช่น เย็นช้ากว่าที่คาดหวัง พบปัญหา 17.7 PP100 เทียบกับรถยนต์ทั่วไปที่พบเพียง 10.0 PP100 ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้ใช้ในประเทศร้อนอย่างประเทศไทย

 

ประการที่สาม ‘ระบบมอเตอร์ การชาร์จไฟ และระบบเกียร์’ พบปัญหา 12.0 PP100 สูงกว่ารถยนต์ทั่วไปที่ 7.8 PP100 โดยเฉพาะเรื่องความเร็วในการชาร์จไฟ ที่ผู้บริโภค 56% ต้องรอนานกว่า 8 ชั่วโมง และระยะทางขับขี่เฉลี่ยต่อการชาร์จหนึ่งครั้งอยู่ที่ 412 กิโลเมตร ซึ่งยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริงของผู้บริโภคหลายราย

 

นอกจากนี้ยังพบปัญหาการออกแบบที่ไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้ ตั้งแต่เบาะนั่งที่ไม่สะดวกสบาย (7.2 PP100) ที่วางแก้วน้ำใช้งานไม่สะดวก (5.7 PP100) ไปจนถึงความสูงรถที่ไม่เพียงพอ (4.3 PP100) รวมถึงปัญหาด้านเทคโนโลยี เช่น ระบบนำทางไม่แม่นยำ (2.0 PP100) และแอปพลิเคชันเชื่อมต่อมือถือใช้งานยาก (1.9 PP100) ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญในการพัฒนา

 

มณีณัฐฐา จิระเสวีจินดา ผู้อำนวยการอาวุโส นีลเส็นไอคิว ประเทศไทย กล่าวว่า “คุณภาพของรถยนต์ไม่เพียงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการผลิต แต่ยังเกี่ยวข้องกับการออกแบบที่มุ่งสร้างประสบการณ์การใช้งานที่สะดวกสบายและปลอดภัย” พร้อมเน้นย้ำว่าการเพิ่มฟีเจอร์หรือเทคโนโลยีใหม่อาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป หากผู้ใช้ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัญหาคุณภาพของรถยนต์ไฟฟ้า ‘Tesla Model 3’ กลับโดดกว่าด้วยคะแนน PP100 ต่ำสุดในกลุ่มที่เพียง 92 PP100 สะท้อนถึงความน่าเชื่อถือและคุณภาพในการออกแบบที่เหนือกว่า ชี้ให้เห็นว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพสูงนั้นเป็นไปได้ หากมีการวางแผนและพัฒนาอย่างรอบด้าน

 

สำหรับผลการจัดอันดับรถยนต์ที่มีคุณภาพสูงสุดในแต่ละกลุ่ม นำโดย Isuzu V-Cross 2 ประตู 4×4 (100 PP100) ในกลุ่มรถกระบะตอนขยาย ตามด้วย Ford Ranger Double Cab 4×4 (118 PP100) ในกลุ่มรถกระบะ 4 ประตู และ Honda Civic (137 PP100) ในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลาง 

 

ขณะที่กลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กมี Nissan Almera (144 PP100) ครองอันดับหนึ่ง และรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดใหญ่ Mitsubishi Pajero Sport (147 PP100) ครองตำแหน่งผู้นำ

 

การเปลี่ยนผ่านสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับผู้ผลิตทุกราย ในการยกระดับมาตรฐานการผลิตและการออกแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ด้วยการผสมผสานระหว่างนวัตกรรมล้ำสมัยและความเข้าใจในการใช้งานจริงของผู้ขับขี่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X