×

ระวังเวฟ 2 Ipsos เผย ธุรกิจไทยยังไม่เคร่งครัดมาตรการความปลอดภัย 100%

24.06.2020
  • LOADING...

ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกเดินหน้าคลายล็อกดาวน์เพื่ออุ้มเศรษฐกิจ สัญญาณการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 ก็เริ่มปรากฏในประเทศอย่างจีนและเกาหลีใต้ ความเสี่ยงในการกลับมาแพร่ระบาดซ้ำนี้ชี้ย้ำว่า ประเทศไทยยังต้องระมัดระวังและปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอกใหม่ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงอยู่ ธุรกิจและประชาชนจึงยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ 

 

Ipsos ได้เผยผลการศึกษาดัชนีสุขภาพและความปลอดภัย (Health and Safety Index) ที่เป็นการสำรวจสถานประกอบการทั่วประเทศของกว่า 22 แบรนด์ ใน 5 ภาคธุรกิจ โดยคำนวณดัชนีรวมจากการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของรัฐบาล และการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดต่างๆ เช่น การจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ, การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น 

 

จากการศึกษาพบว่า ธุรกิจไทยถึง 99.6% ให้ความร่วมมือกับมาตรการด้านสุขอนามัยของรัฐบาล โดยมีการให้ผู้บริโภคสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านแอปพลิเคชัน ‘ไทยชนะ’ ก่อนเข้า-ออกร้าน 

 

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า ยังคงมีหลายมาตรการที่ภาคธุรกิจไม่ได้ปฏิบัติตามเท่าที่ควร โดยจากผลสำรวจพบว่า มีเพียง 67.8% จากสถานประกอบการที่สำรวจทั้งหมดที่มีมาตรการจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ และมีเพียง 79.5% เท่านั้นที่มีการตรวจวัดไข้ลูกค้าก่อนเข้าร้าน ในขณะเดียวกัน หากมองจากฝั่งของลูกค้าแล้ว พบเหตุการณ์ที่ลูกค้าไม่ได้เว้นระยะห่างกันตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในสถานประกอบการที่สำรวจมากถึง 60.7% 

 

หากดูจากดัชนีรวมแล้ว ธุรกิจห้างสรรพสินค้าเป็นธุรกิจที่เคร่งครัดเรื่องมาตรการสุขอนามัยและความปลอดภัยสูงที่สุด โดยปฏิบัติตามดัชนีชี้วัดเฉลี่ยมากถึง 87.9% ตามด้วยธุรกิจร้านอาหาร 86.7% 

 

อย่างไรก็ตาม พบว่าธุรกิจร้านอาหารจานด่วน (QSR: Quick Service Restaurants) และซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีผู้คนสัญจรเข้า-ออกจากร้านเป็นจำนวนมาก มีความเคร่งครัดด้านมาตรการสุขภาพและความปลอดภัยน้อยกว่า โดยหากดูจากภาพรวมแล้ว ปฏิบัติตามมาตรการเฉลี่ยต่ำกว่า 70% 

 

หากลองมองเจาะลึกลงไปในแต่ละภาคธุรกิจแล้ว สามารถเรียงลำดับแบรนด์ที่ปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัยตามดัชนีสุขภาพและความปลอดภัยได้ ดังนี้ 

 

  1. ธุรกิจห้างสรรพสินค้า (ภาพรวม 87.9%)

อันดับ 1 ไอคอนสยาม (94.8%)

อันดับ 2 เดอะมอลล์ (89.7%)

อันดับ 3 เมกาบางนา (87.6%)

 

  1. ธุรกิจร้านอาหาร (ภาพรวม 86.7%)

อันดับ 1 Bar B Q Plaza (92.8%)

อันดับ 2 MK Restaurants (89.4%)

อันดับ 3 Fuji (86.1%)

 

  1. ธุรกิจเทเลคอม (ภาพรวม 82.2%)

อันดับ 1 AIS (88.9%)

อันดับ 2 True (82.7%)

อันดับ 3 dtac (81.8%)

อันดับ 4 Samsung (78.3%)

อันดับ 5 Apple (77.8%)

 

  1. ธุรกิจร้านอาหารจานด่วน (QSR : Quick Service Restaurants) (ภาพรวม 69.5%)

อันดับ 1 KFC (73.6%)

อันดับ 2 Burger King (67.9%)

อันดับ 3 McDonald’s (67.1%)

 

  1. ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต (ภาพรวม 69.4%)

อันดับ 1 Tops (76.5%)

อันดับ 2 Gourmet Market (72.2%)

อันดับ 3 Tesco Lotus (69%)

อันดับ 4 Villa Market (66.1%)

อันดับ 5 Big C (64.3%)

 

ในขณะที่ความคืบหน้าของวัคซีนยังคงอยู่ในระยะการพัฒนาวิจัย มาตรการรักษาสุขภาพและความปลอดภัยจึงเป็นเกราะป้องกันเดียวที่จะช่วยไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ซึ่งนอกจากมาตราการต่างๆ แล้ว ธุรกิจและห้างร้านจำเป็นต้องมีระบบตรวจสอบที่มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่ามาตรการต่างๆ ได้ถูกปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และเพื่อให้ธุรกิจเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไปได้ 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X