×

ชื่อนี้ ‘นักมวย’ ได้แต่ใดมา? ถอดรหัสการตั้งชื่อนักมวยจากความขลังสู่การตลาด

17.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • วงการมวยไทยอาชีพมีการเปลี่ยนแปลงด้านการตั้งชื่อนักมวยจากความเป็นสิริมงคลสู่การตลาดมากขึ้น ทั้งการใส่ชื่อผู้สนับสนุน หรือการใช้ผู้มีชื่อเสียงมาอยู่ในชื่อ
  • จากงานวิจัย ‘ค่านิยมและความเชื่อในชื่อของนักมวยไทย’ เปิดเผยว่า ชื่อนักมวยไทยที่เป็นนามลักษณ์ส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากคำ 2 คำคือ คำต้นชื่อ กับคำท้ายชื่อ เช่น ‘ฉมวกเพชร’ ‘ดีเซลน้อย’
  • งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า คำต้นชื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือคำที่มีความหมายเกี่ยวกับเก่งกล้า หรือยอดเยี่ยม ส่วนชื่อที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุดคือชื่อที่มีคำต้นจากความเจ้าเล่ห์
  • คำท้ายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ คำที่มีความหมายเกี่ยวกับสิ่งที่ล้ำค่า ส่วนที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุดคือคำท้ายจากสิ่งด้อยค่า เช่น ‘เพชรเม็ดเล็ก

     ‘ชื่อ’ เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของทุกคน โดยการตั้งการตั้งชื่อก็ไม่ต่างกับการสร้างแบรนด์ตอนแรก เนื่องจากความหมายของชื่อจะทรงพลังขึ้นก็ต่อเมื่อมีความสำเร็จของแบรนด์หรือบุคคลนั้นมาเป็นแรงส่งให้มีความโด่งดังมากขึ้น

     ในการแข่งขันมวย นอกจากความสามารถแล้ว ชื่อที่ตรงกับบุคลิกของนักมวยและมีความไพเราะติดหู ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสร้างความโด่งดังให้กับตัวนักมวย

 

Photo: สนามมวยเวทีลุมพินี

 

     นักมวยชื่อดังคนล่าสุดของไทยคงหนีไม่พ้น ศรีสะเกษ ศ.รุ่งวิสัย หรือ ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น ที่สามารถป้องกันแชมป์โลกได้อย่างดุดันด้วยการเอาชนะน็อก โรมัน กอนซาเลซ​ ในยกที่ 4 ในการป้องกันแชมป์โลกรุ่นซูเปอร์ฟลายเวต 115 ปอนด์ ของสภามวยโลก WBC ครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา

     แต่มีข้อสงสัยที่เกิดขึ้นจากชื่อนักมวยคือ หลายคนอาจสงสัยว่าสื่อหลายสำนักได้ใช้คำท้ายชื่อศรีสะเกษว่า นครหลวงโปรโมชั่น ขณะที่ชื่อที่ HBO Boxing เลือกใช้ตอนประกาศตัวที่สหรัฐฯ กลับใช้ชื่อ ศรีสะเกษ ศ.รุ่งวิสัย

     แท้จริงแล้วชื่อจริงของศรีสะเกษคือ วิศักดิ์ศิลป์ วังเอก โดยมีชื่อเล่นเดิมว่า ตั้ม แต่ตอนเด็กๆ เพื่อนๆ มักเรียกว่า แหลม ตามลักษณะใบหน้าของเขา แต่ชื่อศรีสะเกษนั้นได้จากการเดินทางมาเข้าร่วมค่ายนครหลวงโปรโมชั่น โดยมีผู้สนับสนุนหลักคือ ศรีสุข รุ่งวิสัย สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้ช่วยสนับสนุนทุนชิงแชมป์โลกในบ้านที่จังหวัดศรีสะเกษ​ จึงเริ่มต้นใช้ชื่อ ‘ศรีสะเกษ’ ตามจังหวัดบ้านเกิด ตามด้วย ศ.รุ่งวิสัย ผู้สนับสนุน ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนเป็น นครหลวงโปรโมชั่น ตามชื่อค่ายต้นสังกัด

 

     ขณะที่นักชกระดับตำนานที่ผ่านมาอย่าง ‘เพชฌฆาตหน้าหยก’ สามารถ พยัคฆ์อรุณ​, ‘ขุนเข่าเสาโทรเลข’ ดีเซลน้อย ช. ธนะสุกาญจน์ หรือ ‘ซ้ายทะลวงไส้’ เขาทราย แกแล็คซี่ ต่างก็เป็นนักมวยที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และสร้างชื่อเสียงในประเทศไทยด้วยฝีมือการชก แต่ชื่อ ‘พยัคฆ์อรุณ’ และ ‘กาแล็คซี่’ มาจากไหน ใครเป็นคนตั้งชื่อให้นักมวยไทย และชื่อแบบไหนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด วันนี้เราจะไปหาคำตอบกัน

     จากคำถามที่เกิดขึ้น เรามีโอกาสได้พูดคุยและสัมภาษณ์ เสี่ยเน้า-วิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ โปรโมเตอร์ชื่อดังจากค่ายเพชรยินดี ถึงขั้นตอนการตั้งชื่อนักมวยไทย โดยเสี่ยเน้าได้เล่าว่า นักมวยไทยส่วนใหญ่ชกอยู่ต่างจังหวัดก่อนเดินทางเข้ามาชกที่กรุงเทพฯ พอเข้ากรุงเทพฯ โปรโมเตอร์ก็จะดูว่าชื่อเดิมเหมาะสมไหม ถ้าไม่เหมาะสมค่อยเปลี่ยน

     “นักมวยอาจจะใช้ชื่อตำบลหรืออำเภอ เราก็จะไม่เปลี่ยน การตั้งชื่อนักมวยจริงๆ แล้วไม่มีหลักการ อยู่ที่ว่าเพราะหรือไม่เพราะเท่านั้นเอง เหมือนกับการตั้งชื่อคนทั่วไปที่ไม่มีหลักการที่แน่ชัด การตั้งชื่อจริงๆ ไม่ได้คำนึงถึงอะไรมาก”

     ขณะที่ฉายาก็จะเป็นเซียนมวย สื่อมวลชน หรือคนในวงการมวยตั้งชื่อให้ตามสไตล์การชกหรือบุคลิกการชก เช่น ‘ซ้ายทะลวงไส้’ ของเขาทราย แกแล็คซี่ ซึ่งมีหมัดซ้ายที่หนักหน่วง หรือ ‘ขุนเข่าเสาโทรเลข’ ดีเซลน้อย ช. ธนะสุกาญจน์  

     เสี่ยโบ๊ท-ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ บุตรชายของวิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ โปรโมเตอร์แห่งสนามมวยเวทีลุมพินีเผยว่า การตั้งชื่อนักมวยขึ้นอยู่กับความชอบของหัวหน้าค่าย หรือหัวหน้าคณะ ซึ่งแล้วแต่ว่าชื่นชอบรูปแบบไหน โดยปัจจุบันมีการนำชื่อคนดังนอกวงการมาใช้เป็นชื่อนักมวยมากขึ้น

     “ทุกวันนี้มีการตั้งชื่อรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น แลมพาร์ด ท. เทพสุทิน หรือ เมสซี่ แป๋งกองปราบ ซึ่งเป็นการนำชื่อนักฟุตบอลมาตั้งให้กับนักมวย โดยสังเกตจากบุคลิกและหน้าตาที่คล้ายกับนักฟุตบอลชื่อดัง

     “จริงๆ ผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับชื่อมาก ส่วนใหญ่จะเน้นที่ฝีมือเป็นหลักก่อน นอกจากนักมวยที่มีเอกลักษณ์มากๆ เช่น เงาะป่า ซาไก เผด็จศึก ช. พัชรพล ตัวตนเขาเป็นแบบนั้น โดยชื่อจะมีความสำคัญก็ต่อเมื่อนักมวยคนนั้นมี คุณลักษณะเฉพาะที่ชัดเจนเท่านั้น”

     ‘สร้อย มั่งมี’ หรือ สังเวียน หมัดตรง นักข่าวกีฬาผู้เชี่ยวชาญข่าวหมัดมวย ได้เปิดเผยถึงความเปลี่ยนแปลงของการตั้งชื่อนักมวย ซึ่งเปลี่ยนไปตามวิวัฒนาการของมวยไทยที่เป็นไปในรูปแบบของธุรกิจมากขึ้น

     “สมัยก่อนนักมวยไทยแต่ละคนจะมีความเป็นมงคล เช่น วิหค เทียมกำแหง ชื่อจะดูดีมากๆ เพราะครูบาอาจารย์จะถ่ายทอดวิชาพวกนี้ และให้ความสำคัญกับชื่อที่มีความเป็นสิริมงคล ส่วนชื่อหลังหรือนามสกุลจะเป็นชื่อค่ายหรือครูบาอาจารย์ เพื่อให้รู้สึกสำนึกถึงค่ายและครูผู้สอน

     “แต่ปัจจุบันมวยไทยได้มีธุรกิจเข้ามามากจนได้รับผลกระทบในการตั้งชื่อ โปรโมตกันโดยเปลี่ยนชื่อค่ายเป็นชื่อผู้สนับสนุนแทน เช่น ไก่ย่างห้าดาวยิม หรือ กระทิงแดงยิม รวมถึงมีการเปลี่ยนชื่อหน้าโดยตั้งเอาแบบ เสาหิน แป้งเย็นโยโกะ ยิม ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ขาดความขลังของการตั้งชื่อไปเลย ทำให้เป็นธุรกิจแบบเต็มตัว ทั้งหัวหน้าคณะและนักมวยต้องยอมตาม เพราะเม็ดเงินที่ไหลเข้ามา การตั้งชื่อนักมวยแบบเดิมจึงเสื่อมลงไปตามกาลเวลา”  

     นอกจากนี้ สร้อย มั่งมี ยังได้ยกตัวอย่างที่มาของชื่อยอดมวยดังในสมัยก่อนที่มีความเป็นมาจากผู้สนับสนุนนักมวยและค่ายมวยเช่นกัน

 

 

     “เริ่มจริงๆ ของการตั้งชื่อนักมวยคือครูฝึกสอน ครูมวยคนแรก เวลาฝึกกันจริงๆ เขาก็จะให้ชื่อตามมงคล พอมีฝีมือดีขึ้น เขาก็ต้องพาเข้าไปต่อยในเมืองกรุง ต้องไปฝากค่ายมวยใหญ่ ค่ายเหล่านี้ก็ต้องใส่ยี่ห้อค่าย เช่นโผน กิ่งเพชร เมื่อขึ้นชกในกรุงเทพฯ ก็ได้ชื่อหลังว่ากิ่งเพชร ที่ตั้งขึ้นโดย นายห้างทองทศ อินทรทัต เจ้าของบริษัทเทวกรรมโอสถ ซึ่งเป็นเจ้าของค่ายกิ่งเพชร”

 

 

     ส่วนมวยไทยก็คล้ายกัน เช่น เขาทราย แกแล็คซี่ ก็มาจากชื่อ คุณอมร อภิธนาคุณ เจ้าของภัตตาคารแกแล็คซี่ นายห้างซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้มีค่ายมวย แต่ได้ มอบเงินสนับสนุนให้กับ ‘แชแม้’ นิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์ โปรโมเตอร์ชื่อดัง จึงเป็นที่มาของชื่อหลังว่า แกแล็คซี่

 

 

     ขณะที่ สามารถ พยัคฆ์อรุณ นั้น คำว่า พยัคฆ์อรุณ เป็นชื่อหัวหน้าคณะเดิม ที่มีชื่อว่า อรุณ พัฒนสิน เจ้าของธุรกิจปั๊มน้ำมัน ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่เขาเลิกมวย อรุณได้นำสามารถมาฝากให้ ‘ครูตุ๊ย’ ยอดธง เสนานันท์ ค่ายศิษย์ยอดธง โดยหัวหน้าคณะเดิมก็ได้ขอครูตุ๊ยให้รักษา ‘พยัคฆ์อรุณ’ ชื่อเดิมของค่ายไว้เป็นอนุสรณ์แก่ตัวเขาเอง

     ส่วนใหญ่จะเป็นหัวหน้าคณะที่มีสิทธิ์ในการตั้งชื่อนักมวย ขณะที่ครูมวยคนแรกจะให้สิทธิ์นักมวยเลือก แต่หลังจากมีชื่อเสียง ครูก็อาจจะเปลี่ยนชื่อให้ใหม่เพื่อเป็นสิริมงคล หรือในตอนที่พาเข้ามาฝากหัวหน้าคณะในกรุงเทพฯ ค่ายมวยเขาก็ตั้งชื่อเป็นมงคลนาม และมีพิธีครอบครู

     ถึงแม้ว่าดูจากบทสัมภาษณ์ต่างๆ แล้วนักมวยไทยจะดูเหมือนไม่มีหลักการในการตั้งชื่อ โดยส่วนใหญ่จะใช้ชื่อตามความพอใจของนักมวย หัวหน้าค่าย หรือครูผู้ฝึกสอน ซึ่งถ้าชื่อมีความไพเราะและมีเอกลักษณ์คล้ายบุคลิกของนักมวยก็ถือว่าผ่านมาตรฐานการตั้งชื่อ หรือไม่เช่นนั้นก็จะใช้ชื่อผู้สนับสนุนที่นิยมใช้มากขึ้น ตามการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของมวยไทย

     แต่อย่างไรก็ตาม จากบทความ ค่านิยมและความเชื่อในชื่อของนักมวยไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง ทำเนียบภาษากีฬามวยไทยของ ธนานันท์ ตรงดี ได้สะสมรายชื่อนักมวยไทย 800 คนจากนิตยสารที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย 4 หัวออกมาเป็นสถิติ ซึ่งบ่งชี้ว่ามวยไทยส่วนใหญ่ตั้งชื่อนามลักษณ์ ประกอบด้วย 2 คำ คือ ‘คำต้นชื่อ’ และ ‘คำท้ายชื่อ’

     โดย ‘คำต้นชื่อ’ ที่แบ่งออกมาได้ทั้งหมด 26 หมวด ซึ่งความหมายที่ได้รับความนิยมนำมาใช้ตั้งชื่อมากที่สุดคือ ‘ยอดเยี่ยม’ และ ‘เก่งกล้า’ ยกตัวอย่างเช่น กล้าขุนศึก, เด่นเก้าแสน หรือยอดสิงห์ ขณะที่ความหมายที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุดคือความเจ้าเล่ห์ เช่น กระล่อนจิ๋ว

     ส่วน ‘คำท้ายชื่อ’ ที่แบ่งออกเป็น 26 หมวดเท่ากัน ความหมายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือสิ่งล้ำค่า เช่น กระดิ่งเงิน, ไกรเพชร, แสงมรกต และสิงห์มณี ขณะที่น้อยที่สุดคือสิ่งด้อยค่า เช่น เพชรเม็ดเล็ก หรือฟุตบาท

     โดยผลสรุปของงานวิจัยชี้ว่า นักมวยต้องการความเก่งกล้าก่อนที่จะเข้าสู่การต่อสู้ โดยมีการตั้งชื่อเป็นขวัญและกำลังใจก่อนขึ้นชก

 

ข้อมูลจากงานวิจัย ‘ทำเนียบภาษากีฬามวยไทย – ธนานันท์ ตรงดี’

 

     ความผูกพันของมวยไทยระหว่างหัวหน้าคณะ นักมวย และโปรโมเตอร์ เปรียบเสมือนครอบครัว เนื่องจากค่ายมวยก็จะเลี้ยงดูนักมวยเหมือนลูกหลาน เหมือนคนในครอบครัว ฉะนั้นการตั้งชื่อก็ไม่ต่างกับการตั้งชื่อบุตรหลานในแต่ละครัวเรือน

     ถึงแม้หลายฝ่ายยืนยันว่าไม่มีหลักการตั้งชื่อ แต่จากสถิติก็บ่งชี้ชัดเจนว่า ความเชื่อในชื่อมีบทบาทสำคัญในแง่ของจิตวิทยา นักมวยที่เน้นใช้คำที่มีความหมายว่ายอดเยี่ยมหรือกล้าหาญเพื่อเป็นกำลังใจในการขึ้นชก และต่อท้ายด้วยสิ่งของมีค่า ไม่ใช่ต้องการที่จะมีความร่ำรวย แต่นำมาใช้ในเชิงอุปลักษณ์หรือแทนตนเอง เช่น การใช้คำว่า ‘เพชรบ้านดอน’ จะหมายความว่า ตัวนักมวยเองนั้นคือ เพชรของบ้านดอน หรือเป็นสิ่งของล้ำค่าประจำบ้านดอน (ซึ่งอาจหมายถึงถิ่นกำเนิดของนักมวย) นั่นเอง

 

 

อ้างอิง:  

  • งานวิจัยของ ธนานันท์ ตรงดี หัวข้อ ‘ทำเนียบภาษากีฬามวยไทย’
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X