วันนี้ (7 กรกฎาคม) ที่ ศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.) พลเรือตรี สุรสันต์ คงสิริ รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย แถลงผลการประชุม ศบ.ทก. โดยยืนยันมติจากที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ที่มอบอำนาจให้ ศบ.ทก. ดำเนินการแก้ไขปัญหาความตึงเครียดตามแนวชายแดนให้คลี่คลายลงได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการกำหนดมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มหรือผ่อนคลายมาตรการตามสถานการณ์ แต่ยังคงเน้นย้ำในการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทหาร
นอกจากนี้ ที่ประชุม สมช. ยังได้เน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติให้มีมาตรการกดดันที่เข้มงวดและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ศบ.ทก. มีขอบเขตหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดนในลักษณะเฉพาะกิจ โดยในมิติของงานปกติยังคงเป็นการทำงานของหน่วยงานตามสายงานปกติ
พลเรือตรีสุรสันต์ ยังกล่าวถึงมาตรการการผ่านแดน หรือจุดผ่านเข้าออกของประชาชนทั้งสองฝ่ายที่ได้รับอนุญาต โดยยังคงอนุญาตให้ประชาชนในพื้นที่ท้องถิ่นที่ได้รับอนุญาตสามารถเดินทางผ่านเข้าออกเพื่อจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงกลุ่มเปราะบางที่จำเป็น เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยยังคงอนุญาตให้ผ่านเข้าออกได้เช่นกัน เช่นเดียวกับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ต้องเดินทางมาศึกษาในสถาบันของตนเอง และการขนส่งเวชภัณฑ์ รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม
โดยตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2568 จนถึงปัจจุบัน มีตัวเลขการผ่อนปรนมาตรการผ่านเข้าออก โดยฝั่งกองกำลังบูรพา มีบุคคลเข้าราชอาณาจักร 212,766 คน และเดินทางออกจากราชอาณาจักร 206,100 คน ส่วนฝั่งกองกำลังสุรนารีมีการเข้าออกรวม 2,454 คน
ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าแรงงานต่างชาติ พลเรือตรีสุรสันต์ ยืนยันว่า ศบ.ทก. ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีการประชุมหารือแนวทางในการผ่อนปรนร่วมกับผู้แทนจากกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทย
กระทรวงมหาดไทย จะพิจารณาผ่อนผันแรงงานต่างชาติที่มีใบอนุญาตหมดอายุและอยู่ในประเทศไทยให้อยู่ต่อได้เป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ จนกว่าด่านชายแดนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และภายหลังที่ด่านเปิดตามปกติ แรงงานต่างชาติกลุ่มนี้จะต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักรภายใน 14 วัน
ขณะที่ กระทรวงแรงงาน จะออกมาตรการให้แรงงานต่างชาติสามารถยื่นคำขออนุญาตทำงานพร้อมเอกสารและหลักฐานการทำงานต่อใบอนุญาต โดยสามารถทำงานได้ครั้งละ 90 วัน และต้องต่อใบอนุญาตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ แรงงานต่างชาติที่มีงานทำอยู่แล้วยังสามารถเปลี่ยนนายจ้างและเพิ่มนายจ้างได้ 3 ราย ตลอดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตทำงานในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ
ผลการประชุมของคณะทำงานดังกล่าว กรมการจัดหางานจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างชาติ ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ซึ่งหากมีการประกาศของคณะรัฐมนตรี จะมีผลย้อนหลังถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2568
ในมิติการต่างประเทศ มาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกลไกภายในกระทรวงฯ ในการบริหารสถานการณ์ความตึงเครียดไทย-กัมพูชา ที่ได้ดำเนินการประสานงานด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานระดับกระทรวงเพื่อติดตามสถานการณ์และสนับสนุนการบูรณาการภายใน รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลระหว่างกระทรวงกับสถานเอกอัครราชทูตไทยทั่วโลก
มาระตี ยังชี้แจงถึงกรณีที่มีรายงานข่าวในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับหนังสือของเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรกัมพูชาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2568 ที่แจ้งความประสงค์ของกัมพูชาที่จะฟ้องร้องประเด็นชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ)
กระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก มีหนังสือชี้แจงถึงเลขาธิการสหประชาชาติเช่นกัน เพื่อชี้แจงถึง ข้อเท็จจริง ตลอดจนท่าทีและการดำเนินการของฝ่ายไทย ในเรื่องนี้ว่า เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ หลักสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม ฝ่ายไทยยังได้ขอให้เลขาธิการสหประชาชาติเวียนหนังสือชี้แจงของไทยเป็นเอกสารของสำนักงานสหประชาชาติ เพื่อให้สมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศได้รับทราบ ยืนยันว่าไทยไม่ได้นิ่งนอนใจและได้ชี้แจงในจุดยืนเดิมเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ เมื่อวานที่ผ่านมา (6 กรกฎาคม) กระทรวงการต่างประเทศได้ออกข่าวสารนิเทศอีก 1 ฉบับ เพื่อชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าทีและข้อคิดเห็นของไทยในเรื่องนี้ เพื่อประโยชน์ของการทำความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในพื้นที่สื่อที่มีการนำเสนอข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนอาจไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมด
จึงได้มีการชี้แจงถึงการดำเนินการของฝ่ายไทยตั้งแต่เกิดเหตุปะทะระหว่างทหารไทยและกัมพูชา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา และยืนยันจุดยืนของรัฐบาลไทยคือการแก้ไขปัญหาเขตแดนกับกัมพูชาด้วยสันติวิธี ภายใต้พันธกรณีปี 2543 ที่ทั้งสองฝ่ายต้องแก้ไขปัญหาเขตแดนผ่านการเจรจาภายใต้กลไก JBC (Joint Boundary Commission)