×

ต่างชาติขายสุทธิบอนด์ไทยทะลุ 7.2 หมื่นล้านบาทแล้วในปีนี้ จับตาครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มไหลออกต่อ?

03.07.2024
  • LOADING...
บอนด์ไทย

ต่างชาติขายสุทธิบอนด์ไทยทะลุ 7.2 หมื่นล้านบาทแล้วในปีนี้ จับตาครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มไหลออกต่อจากส่วนต่างดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) และการรวมบอนด์อินเดียในดัชนีระดับโลก อย่างไรก็ดี หาก Fed ลดอัตราดอกเบี้ยอาจเป็นปัจจัยบวกต่อกระแสเงินลงทุนในตลาดบอนด์ไทย

 

วานนี้ (2 กรกฎาคม) ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ณ สิ้นไตรมาส 2/67 กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ของนักลงทุนต่างชาติในครึ่งแรกของปี 2567 เป็นการขายสุทธิ (Net Sell) ตราสารหนี้ไทยทั้งในไตรมาส 1 และ 2 รวมเป็นมูลค่า 66,514 ล้านบาท

 

เมื่อรวมกับ Fund Flow ในช่วง 2 วันแรกของเดือนกรกฎาคม ซึ่งต่างชาติขายสุทธิไป 6,314 ล้านบาท ก็พบว่าตั้งแต่ต้นปี (YTD) ต่างชาติขายสุทธิตราสารหนี้ไทยไปแล้ว 72,019 ล้านบาท

 

โดยจำนวนขายสุทธิ 72,019 ล้านบาทในครึ่งแรกของปีนี้ คิดเป็น 50.02% ของการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยทั้งปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 143,968 ล้านบาท นับเป็นจำนวนไหลออกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

 

เปิดปัจจัยฉุดเม็ดเงินไหลออกจากตลาดบอนด์ไทย

 

ดร.สมจินต์ เปิดเผยว่า กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลออกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เป็นผลมาจากปัจจัยหลัก 2 ประการ ได้แก่ Fed คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด และรวมพันธบัตรรัฐบาลของอินเดียในการคำนวณดัชนีตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ของ JPMorgan Government Bond Index-Emerging Markets (GBI-EM) ที่จะส่งผลให้ตราสารหนี้ไทยมีสัดส่วนในดัชนีลดลง

 

โดยการคงอัตราดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังทรงตัวเหนือระดับ 3% ต่อเนื่อง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) รุ่น 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4.36% ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีซึ่งอยู่ระดับราว 3.84%

 

อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล รุ่น 10 ปีของไทยกลับค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.68% ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีซึ่งอยู่ระดับราว 2.7%

 

สะท้อนว่าส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของไทยและสหรัฐฯ (Yield Gap) ในช่วงกลางปีนี้เพิ่มเป็น 1.68% จาก 1.14% เมื่อช่วงต้นปี

 

บอนด์ไทย

 

นอกจากนี้ ย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2567 JPMorgan ได้เพิ่มพันธบัตรรัฐบาลอินเดียในการคำนวณดัชนีตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ JPMorgan GBI-EM โดยจะเพิ่มน้ำหนักเดือนละ 1% เป็นเวลา 10 เดือน จนกว่าพันธบัตรรัฐบาลอินเดียจะมีน้ำหนักรวม 10%

 

โดย JPMorgan คาดว่าไทยจะถูกปรับลดน้ำหนักในดัชนีลงประมาณ 1.6% ทำให้จะมี Fund Flow ไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยราว 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 117,000 ล้านบาท) ในช่วง 10 เดือนนี้ (เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2567)

 

เปิดแนวโน้มกระแสเงินลงทุนต่างชาติครึ่งหลังของปี

 

ดร.สมจินต์ มองว่ามีปัจจัยบวกและลบที่ต้องติดตามต่อไป โดยการรวมพันธบัตรรัฐบาลอินเดียในดัชนีระดับโลก และหากส่วนต่างดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และไทยยังกว้างอยู่ ก็น่าจะเป็นปัจจัยลบต่อกระแสเงินลงทุนต่อไป

 

อย่างไรก็ดี ในทางกลับกัน หากสหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อกระแสเงิน แต่ ดร.สมจินต์ มองว่าการไหลออกจะหยุดเลยหรือไม่ หรือจะมีกระแสเงินไหลกลับเข้ามาหรือไม่ ยังเป็นเรื่องยากที่จะตอบได้ นอกจากนี้ อีกปัจจัยบวกคือ ESG Bond ที่มีความน่าสนใจและเป็นที่ต้องการของนักลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

รัฐบาลจ่อกู้เงินเพิ่ม จะกระทบตลาดบอนด์มากแค่ไหน?

 

หลังจากวันนี้ (2 กรกฎาคม) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 ประกอบด้วย (1) แผนก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มสุทธิ 275,870.08 ล้านบาท (จากเดิม 755,710.63 ล้านบาท เป็น 1,030,580.71 ล้านบาท) สะท้อนว่าอุปทานพันธบัตรรัฐบาลอาจเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ดร.สมจินต์ มองว่า ณ ปัจจุบันการออกพันธบัตรรัฐบาลของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยังไม่มีผลกระทบมากนักต่อราคาหรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล กล่าวคือ Bond Yield ไม่ได้กระโดดขึ้นมา สะท้อนว่าตลาดได้เตรียมตัวไว้แล้ว

 

“สบน. ในฐานะของผู้ระดมทุน มีความเป็นมืออาชีพ สามารถทำได้ดี และตลาดก็เตรียมตัวดีอยู่แล้ว” ดร.สมจินต์ กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising