×

จำนวนผู้ออกหุ้นกู้ในไทยถูก ‘หั่น’ เครดิตเรตติ้งพุ่ง ทะลุช่วงโควิด หลังยอดหุ้นกู้มีปัญหาเพิ่มแตะ 4.1 หมื่นล้านบาทในปี 2567

09.01.2025
  • LOADING...
หุ้นกู้

จำนวนบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ในไทยถูก ‘หั่น’ เครดิตเรตติ้งพุ่ง ยอดแซงช่วงโควิด เหตุตลาดผันผวนสูง และภาวะเศรษฐกิจไทยที่ไม่เอื้ออำนวย ท่ามกลางคลื่นหุ้นกู้มีปัญหา-ผิดนัดชำระตลอดทั้งปี มูลค่าสูงแตะ 4.1 หมื่นล้านบาท ด้าน ThaiBMA คาดยอดออกหุ้นกู้ใหม่ปี 2568 มีแนวโน้มซบเซากว่าปีที่แล้ว อยู่ที่ 8.5-9 แสนล้านบาทเท่านั้น

 

วันนี้ (9 มกราคม) อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในปี 2567 มีผู้ออกตราสารหนี้ถูกปรับลด (Downgrade) อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ถึง 46 แห่ง จาก 217 บริษัทที่มีมูลค่าคงค้างหุ้นกู้ที่มีการจัดอันดับเครดิตจาก TRIS Rating และ Fitch Ratings (Thailand) เนื่องมาจากความผันผวนในตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ ข่าวเชิงลบหลายต่อหลายครั้ง และภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย

 

จำนวนดังกล่าวนับว่าสูงกว่าช่วงโควิดเมื่อปี 2563 ที่มีผู้ออกตราสารหนี้ถูกปรับลด (Downgrade) อันดับความน่าเชื่อถือ 36 แห่งจาก 195 บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต

 

โดยจากบริษัท 46 แห่งที่ถูกดาวน์เกรดในปีนี้มีราว 10 บริษัทที่ถูกปรับลดเครดิตเรตติ้งจากระดับลงทุน (Investment Grade) มาสู่ระดับต่ำกว่าลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ขณะที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ (Credit Rating Agency) ก็มีความตื่นตัวมากขึ้นเช่นกัน

 

นอกเหนือจากนี้ในปี 2567 มีผู้ออกตราสารหนี้ 13 แห่งได้รับการปรับเพิ่ม (Upgrade) อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) แต่นับว่าน้อยกว่าปีที่แล้วซึ่งมีถึง 16 แห่ง

 

หุ้นกู้

 

หุ้นกู้มีปัญหารวมมูลค่ากว่า 4.1 หมื่นล้านบาทในปี 2567

 

คลื่นการดาวน์เกรดดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดหุ้นกู้ไทยเผชิญกับความยากลำบากในปีที่ผ่านมา โดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในปี 2567 มีหุ้นกู้ที่มีปัญหารวมมูลค่ากว่า 4.1 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น

  • หุ้นกู้ผิดนัดชำระรวม 3,172 ล้านบาท จากผู้ออก 5 ราย
  • หุ้นกู้ที่เลื่อนกำหนดชำระรวม 37,963 ล้านบาท จากผู้ออก 17 ราย

 

สำหรับตัวอย่างในกรณีหุ้นกู้ที่มีปัญหาในปี 2567 ซึ่งเป็นที่พูดถึงและกระทบนักลงทุนจำนวนมาก ได้แก่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY, บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA

โดยมูลค่าหุ้นกู้มีปัญหาในปี 2567 เพิ่มขึ้นกว่า 40% จากปี 2566 (ที่มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระ 22 รุ่น จากผู้ออก 5 ราย มูลค่า 16,363 ล้านบาท และมีหุ้นกู้เลื่อนกำหนดชำระ 37 รุ่น จากผู้ออก 14 ราย มูลค่า 12,443 ล้านบาท)

 

หุ้นกู้

 

จับตาแนวโน้มหุ้นกู้มีปัญหาในปี 2568

 

อริยากล่าวว่า ในปี 2568 ไม่น่ามีสถานการณ์ที่น่ากังวลเพิ่มเติมไปจากปีก่อน เนื่องจากเชื่อว่าบริษัทที่จะออกหุ้นกู้ปีนี้ได้สำเร็จจะต้องเป็นบริษัทที่มีคุณภาพ จากกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ‘ยกระดับ’ ขึ้นมา ทำให้บริษัทรายเล็กที่เพิ่งได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออกหุ้นกู้ได้ยากขึ้น ดังนั้นจึงทำให้หุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงจากผู้ออกหุ้นที่มีงบการเงินไม่แข็งแรงหรือจากบริษัทเล็ก ‘ออกได้ยากขึ้น’

 

นอกจากนี้ยังต้องจับตาดูว่า หากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ดี ทำให้บริษัทเดิมที่ออกหุ้นกู้ไปก่อนหน้านี้เผชิญปัญหาสภาพคล่องอีก ก็อาจนำไปสู่การเจรจายืดหนี้ที่เพิ่มขึ้น

 

ดังนั้นจึงต้องคอยดูหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดในปี 2568 ซึ่งมีจำนวน 893,275 ล้านบาท โดยจำนวนนี้ 85% เป็นหุ้นกู้ Investment Grade ขณะที่หุ้นกู้ High Yield คิดเป็น 15%

 

 

ตลาดหุ้นกู้เอกชนไทย ‘หดตัว’ ครั้งแรกในรอบกว่า 5 ปี

 

ปัญหาในตลาดหุ้นกู้ในปีที่ผ่านมายังเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มูลค่าคงค้างของ ‘ตราสารหนี้ภาคเอกชน’ ลดลง 4.4% ซึ่งนับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 4.6 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2024 สวนทางกับการออกพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้มูลค่าคงค้างของตลาดตราสารหนี้ไทย ‘โดยรวม’ อยู่ที่ 17.1 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 3.6% 

 

หุ้นกู้

 

คาดปี 2568 เอกชนออกหุ้นกู้ต่ำ 1 ล้านล้านบาทต่อเนื่อง

 

ส่วนการออกหุ้นกู้เอกชนระยะยาวในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 913,141 ล้านบาท นับว่าลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 10% และลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาทครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยอริยาคาดการณ์การออกหุ้นกู้ใหม่ในปี 2568 ว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท อยู่ที่ 8.5-9 แสนล้านบาทเท่านั้น

 

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X