NIM แบงก์ไทยลดเหลือ 2.8% ในไตรมาส 1 ปี 2568 ต่ำสุดในรอบ 8 ไตรมาส ตามดอกเบี้ยขาลง ธปท. มองแนวโน้ม NIM จ่อลดลงต่อ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้ได้ประโยชน์มากขึ้น หากระบบธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันมากขึ้น โดย ธปท. ได้พยายามสนับสนุนการแข่งขัน ผ่านโครงการ Open Data และการเตรียมให้ใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเพิ่ม
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 1 ปี 2568 พบว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ลดลงหลักหมื่นล้านบาท จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่ลดลง (ซึ่งเป็นปัจจัยฤดูกาล จากไตรมาสก่อนที่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูงขึ้น) และค่าใช้จ่ายด้าน IT ที่ลดลง และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (เงินลงทุนและการวัดมูลค่าตราสารทางการเงิน) ที่ปรับเพิ่มขึ้น แม้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิได้ปรับลดลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
NIM แบงก์ไทยลดเหลือ 2.8% ต่ำสุดในรอบ 8 ไตรมาส
ธปท. ยังเปิดเผยว่า ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.8% ในไตรมาส 1 ปี 2568 นับเป็นการลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 ไตรมาส สะท้อนตามภาวะรายได้ดอกเบี้ยที่ปรับลดลง ขณะที่ ROA และ ROE ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.16% และ 8.38% ตามลำดับ
แนวโน้ม NIM จ่อลดลงต่อ ลูกหนี้ได้ประโยชน์มากขึ้น
สุวรรณีกล่าวอีกว่า ในอนาคต NIM ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย มีโอกาสลดลงได้อีก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ หากธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันมากขึ้น
“NIM ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ในระดับกลางๆ ของภูมิภาค แต่ถามว่า ถ้าลดลงแล้วทำให้ลูกหนี้ได้ประโยชน์มากขึ้น ทำให้แบงก์มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และเกิดการแข่งขันมากขึ้น ก็น่าจะทำให้ NIM ลดลงได้ โดยส่วนหนึ่งคือ ‘การเปิดการแข่งขัน’ โดย ธปท. ก็เตรียมจะให้ไลเซนส์แบงก์ใหม่ นั่นคือธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) และการทำโครงการ Open Data ของ ธปท. เพื่อส่งเสริมการแข่งขัน (Open Competition) ให้มากขึ้น”
ทั้งนี้ NIM ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งอยู่ในระดับ 2.8% ถือว่า อยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 4.6% ฟิลิปปินส์ที่ประมาณ 4.1% เวียดนามที่ 3.3% และสิงคโปร์ประมาณ 2%
โดย NIM ถือเป็นหนึ่งในเครื่องชี้ที่สะท้อนความสามารถในการหารายได้ของธนาคารพาณิชย์ จากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับ และดอกเบี้ยจ่าย
โดยมีการคำนวณคือ จากดอกเบี้ยรับทั้งสิ้น (จากสินเชื่อ การให้กู้ยืมระหว่างสถาบันการเงินและเงินลงทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้) ลบด้วยมูลค่าดอกเบี้ยจ่ายทั้งสิ้น (จากเงินรับฝาก ตราสารหนี้ และเงินกู้ยืมทุกประเภท รวมถึงเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและสถาบันคุ้มครองเงินฝาก) หารด้วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย
ภาพประกอบ: พุทธิพงศ์ โรจน์ศตพงค์