จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำ (Minimum Payment) ของบัตรเครดิต โดยกำหนดให้ยังคงอยู่ที่ 8% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 จากเดิมที่กำหนดให้อัตราดังกล่าวกลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
อธิศ รุจิรวัฒน์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และเป็นประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า มุมมองส่วนตัวมีความเห็นว่า Minimum Payment ของบัตรเครดิตที่กำหนดให้ยังคงอยู่ที่ 8% อยู่ในจุดที่ดีแล้ว แม้ว่าในช่วงต้นปี 2567 มีการปรับเกณฑ์ Minimum Payment ของบัตรเครดิตจากระดับ 5% มาเป็น 8% ส่งผลกระทบให้ในช่วงต้นปีนี้เริ่มเห็นการผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ที่เริ่มนิ่งแล้ว หลังจากลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตสามารถปรับตัวได้
ทั้งนี้ มองว่าหากมีการปรับลด Minimum Payment ของบัตรเครดิตกลับไปที่ 5% อีกครั้งจะเป็นวัฏจักรที่มีผลกระทบตามมา เพราะสุดท้ายแล้วในอนาคตจะต้องกลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% โดย Minimum Payment ของบัตรเครดิตที่ 8% ปัจจุบันเชื่อว่าจะเป็นจุดที่สามารถยืนอยู่ได้ในระยะยาว เนื่องจากการปรับขึ้นหรือลง Minimum Payment ของบัตรเครดิตบ่อยๆ อาจส่งผลกระทบต่อระยะเวลาในการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อสร้างความคุ้นชิน
ดังนั้นหากมีการปรับ Minimum Payment ของบัตรเครดิตลงกลับไปที่ 5% แล้วในอนาคตมีการปรับขึ้นสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% อาจมีผลกระทบที่สูงกว่า หากเปรียบเทียบกับกรณีที่ผู้บริโภคเริ่มทยอยปรับตัวคุ้นชิน สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้แล้ว ในกรณีที่มีการจ่าย Minimum Payment ของบัตรเครดิตที่ 8% แล้วปรับขึ้นไปสู่ 10% ในอนาคตซึ่งมีส่วนต่างที่น้อยกว่า ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่ควรปรับลด Minimum Payment ของบัตรเครดิตไปที่ 5% อีก
แต่หากครบกำหนดสิ้นปี 2568 เกณฑ์ผ่อนปรน Minimum Payment ของบัตรเครดิตที่ 8% แล้วหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น อาจหารือกับ ธปท. เพื่อขยายเวลาในการผ่อนปรนเพิ่มเติมได้
ภาพ: อธิศ รุจิรวัฒน์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าบริษัทมีนโยบายอย่างไรจากกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายต้องการให้สถาบันการเงินออกมาตรการเพื่อ Hair ลดหนี้ รวมถึงปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มเปราะบาง อธิศระบุว่า ปัจจุบันบริษัทมีโครงการพร้อมช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาอยู่แล้ว ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ อีกทั้งร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้
โดยหลังจากช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีการปรับเกณฑ์ Minimum Payment ของบัตรเครดิตจากระดับ 5% มาเป็น 8% ส่งผลกระทบให้มีลูกค้าทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลทยอยเข้ามาร่วมโครงการเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบจากสิ้นปี 2566
อีกทั้งยังมีจำนวนมากกว่าช่วงที่มีสถานการณ์โควิด เนื่องจากคาดว่าลูกค้าของบริษัทที่ประสบปัญหาไปต่อไม่ไหวสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารของโครงการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มมากขึ้น หลังจากมีการสื่อสารข้อมูลออกไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้กระจายหลากหลายกลุ่ม ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกลุ่มใดที่มีมากเป็นพิเศษ
6 เดือนแรกลูกค้าขอปรับโครงสร้างหนี้พุ่ง 91%
ทั้งนี้ ยอดหนี้ที่อยู่ในโครงการปรับโครงสร้างหนี้ และมาตรการช่วยเหลือ (DR/TDR/PD) ในเดือนมิถุนายน 2567 เพิ่มสูงขึ้น 16% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมโครงการรายใหม่เป็นจำนวนมาก โดยจำนวนบัญชีที่เข้ารับการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 91% โดยเป็นผลกระทบมาจากการเพิ่มการนำเสนอโครงการปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการ RL ของ ธปท. และมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากปีที่แล้ว เช่น แก้ไขหนี้เรื้อรัง (PD) และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ตั้งแต่ยังไม่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (GDR)
สมาคมธนาคารไทยศึกษามาตรการ Hair Cut เพิ่ม
ด้าน ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า กำลังศึกษาเกี่ยวมาตรการลดหนี้ (Hair Cut) ตามแนวทางข้อเสนอของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอรายละเอียดของมาตรการดังกล่าวจากรัฐบาลใหม่ก่อน เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติม
พร้อมทั้งอธิบายต่อว่า ปัจจุบันธนาคารก็มีการลดหนี้ (Hair Cut) อยู่แล้ว ซึ่งเป็นมาตรการตรงจุดและตรงกลุ่มเป้าหมายที่มีความจำเป็นอยู่แล้ว
ภาพ: ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย
ขณะที่อธิศกล่าวต่อว่า ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 การอนุมัติบัตรเครดิตใหม่และสินเชื่อส่วนบุคคลใหม่ของบริษัทมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 1.7% ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของตลาดที่ขยายตัว 3.8% เนื่องจากธนาคารมีนโยบายหลักเกณฑ์ที่มีความเข้มงวด และมีความรับผิดชอบมาอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาอนุมัติ
จากนโยบายดังกล่าวส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทในระยะยาว ทำให้มีหนี้เสีย (NPL) ต่ำกว่าภาพรวมของตลาด โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมี NPL ในกลุ่มบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.4% ขณะที่ภาพรวมของตลาดมี NPL อยู่ที่ 2.9% และกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัทมี NPL อยู่ระดับ 2.6% ส่วนภาพรวมของตลาดรวมมี NPL อยู่ที่ 4.1%
“ช่วง 6 เดือนแรกของปีเรามีการอนุมัติน้อยลงจริงๆ แต่ไม่ได้บอกน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ถือว่าน้อยกว่าภาพรวมของตลาด ส่วนการปรับเกณฑ์จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 5% ขึ้นมาเป็น 8% ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีนี้ เราเห็นการผิดชำระหนี้เพิ่มขึ้นเยอะ ซึ่งปัจจุบันเริ่ม Stable อยู่ในมิติที่ไม่น่าจะขึ้นได้อีกแล้ว เพราะลูกค้าเริ่มปรับตัวได้ และเห็น NPL แนวโน้มปรับขึ้นด้วย
“แต่ยังอยู่ในอัตราที่ควบคุมได้ ส่วนในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมียอดอนุมัติบัตรเครดิตอยู่ที่สัดส่วนกว่า 40% ด้านสินเชื่อส่วนบุคคลมียอดอนุมัติสัดส่วน 30% ปลายๆ ซึ่งลดลงไปราว 1-2% จากสิ้นปีที่แล้ว” อธิศกล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดว่า NPL ของบริษัทในช่วงสิ้นปี 2567 มีโอกาสปรับขึ้นเล็กน้อยจากช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เนื่องจากมีผลกระทบจากปัจจัยของการปรับจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 5% ขึ้นมาเป็น 8% ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป
ภาพ: NPL ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์
ด้านผลประกอบการครึ่งปีแรกของปีนี้ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ยังสามารถเติบโตเป็นที่น่าพอใจ โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 189,000 ล้านบาท เติบโต 9%, ยอดสินเชื่อใหม่ 47,000 ล้านบาท เติบโต 6%, ยอดสินเชื่อคงค้าง 140,000 ล้านบาท เติบโต 2% และจำนวนบัญชีลูกค้าใหม่ 287,000 บัญชี เติบโต 7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อธิศกล่าวว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปีนี้คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นได้ช้ากว่าที่คาดหวังไว้ ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเครือกรุงศรียังขยายตัวได้ดีราว 9% จึงมีมุมมองว่าตลาดบัตรเครดิตยังมีโอกาสในการขยายตัวได้ แต่มีแนวโน้มสัญญาณการขยายตัวที่ช้าลง
สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จะเน้นสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพด้วย 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
- มุ่งพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลักให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
- ขยายระบบนิเวศพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจ
- สร้างเสริมนวัตกรรมทางการชำระเงิน
- ผสานความร่วมมือในเครือกรุงศรีเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ
- พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน
ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทคาดว่าจะมียอดบัญชีลูกค้าใหม่ 617,000 บัญชี เติบโต 10%, ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 393,000 ล้านบาท เติบโต 8%, ยอดสินเชื่อใหม่ 100,000 ล้านบาท เติบโต 9% และยอดสินเชื่อคงค้าง 151,000 ล้านบาท เติบโต 2% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566