แบงก์ชาติจับตาการประชุมสมาคมธนาคารไทยเย็นนี้ หลังนายกรัฐมนตรีเรียกผู้บริหาร 4 ธนาคารใหญ่เข้าพบเมื่อวานนี้ (23 เมษายน) พร้อมระบุ ธปท. เองก็มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางมาโดยตลอดอยู่แล้ว
วันนี้ (24 เมษายน) ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เท่าที่ทราบ สมาคมธนาคารไทยจะมีการประชุมกันในวันนี้ เพื่อพิจารณาเรื่องกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะมุ่งเน้นดูแลกลุ่มเปราะบางนั้น ‘เป็นสิ่งที่ดี’ และสอดคล้องกับแนวทางที่แบงก์ชาติดำเนินมาโดยตลอด
ยกตัวอย่างเช่นในช่วงการปรับนโยบายให้เข้าสู่ระดับปกติ (Normalization) หรือการขึ้นดอกเบี้ยในปีก่อน ธปท. ได้ดูแลการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ย (Transmission) ให้เป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้รายย่อย (MRR) โดยพยายามทำให้การส่งผ่านดอกเบี้ย MRR อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยตัวอื่นๆ เช่น MLR และ MOR
นอกจากนี้ ตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ธปท. ก็ยังได้พยายามดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงจะเป็นหนี้เสีย (NPL) และหลังเป็นหนี้เสียด้วย
โดยย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยชี้แจงว่า หลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีก่อน การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้รายย่อย MRR อยู่ที่ 49% เท่านั้น (หมายความได้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% อัตราดอกเบี้ย MRR จะขึ้นราว 0.49%) โดยการส่งผ่านดังกล่าวนับว่าต่ำเมื่อเทียบกับในอดีตที่ 58% และต่ำกว่าการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยประเภท MLR และ MOR ซึ่งอยู่ที่ 69% และ 64% ตามลำดับ
“การทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือกลุ่มคนที่เดือดร้อนได้มากขึ้นเป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่ ธปท. พยายามทำมาโดยตลอด” ปิติกล่าว
ปิติยังมองว่า การที่ธนาคารพาณิชย์จะออกมาตรการดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างไรขึ้นอยู่กับรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) ของธนาคารพาณิชย์นั้นๆ และเป็นเรื่องกลไกของตลาด