ธปท. เผยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 3 ปี 2567 หดตัวที่ 2%YoY นับเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2553 หรือตั้งแต่ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ขณะที่สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.97% สูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
วันนี้ (26 พฤศจิกายน) สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานแถลงข่าวสรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2567 โดยระบุว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 3 ปี 2567 หดตัวที่ 2% จากระยะเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งนับเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2553 หรือในรอบ 14 ปี
สำหรับสาเหตุที่สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์หดตัว โดยหลักมาจาก 1. การชำระคืนหนี้ที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการจ่ายคืนหนี้ของภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ 2. สินเชื่อในภาคธุรกิจที่เผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขันยังคงหดตัว โดยเฉพาะในกลุ่มปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์
อย่างไรก็ดี สุวรรณีย้ำว่า การให้สินเชื่อใหม่ยังมีต่อเนื่อง โดยในธุรกิจขนาดใหญ่ในภาคบริการ อสังหาริมทรัพย์ พาณิชย์ รวมไปถึงสินเชื่ออุปโภคบริโภคประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่ก็มีแนวโน้มชะลอลง
สำหรับอัตราการขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภค เมื่อแยกตามพอร์ตสินเชื่อพบว่า สินเชื่อทุกประเภทหดตัวหนักเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีนี้ ดังนี้
- สินเชื่อที่อยู่อาศัย (ซึ่งคิดเป็น 45% ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมด) ขยายตัวเพียง 0.4% จากไตรมาสก่อนขยายตัว 0.8%
- สินเชื่อส่วนบุคคล (ซึ่งคิดเป็น 27% ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมด) ขยายตัว 2.7% จากไตรมาสก่อนขยายตัว 5.8%
- สินเชื่อเช่าซื้อ (ซึ่งคิดเป็น 21% ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมด) หดตัว 7.6% จากไตรมาสก่อนหดตัว 4.9%
- สินเชื่อบัตรเครดิต (ซึ่งคิดเป็น 7% ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมด) หดตัว 2.4% จากไตรมาสก่อนหดตัว 0.2%
NPL และ SM ในระบบแบงก์แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 11 ไตรมาส
ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL หรือ Stage 3) ไตรมาส 3 ปี 2567 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.53 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPLต่อสินเชื่อรวมที่ 2.97% (โดยการเพิ่มขึ้นนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสินเชื่อที่ปรับลดลง) จากทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค นับว่าสูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 ซึ่งมีสัดส่วน NPLอยู่ที่ 3.02%
สุวรรณีกล่าวว่า ธปท.ยังกังวลกับ NPLแต่มองว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่กระจายตัวในวงกว้าง โดยยังอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเปราะบาง ส่วนใหญ่ลูกหนี้ธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค (Retail) ที่มีปัญหาอยู่เดิมและผ่านการให้ความช่วยเหลือมาแล้วทั้งสิ้น
สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Stage 2) อยู่ที่ 6.86% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจากสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพของธนาคารพาณิชย์ โดยธุรกิจยังสามารถชำระคืนหนี้ได้ตามเงื่อนไขสัญญา และสินเชื่อที่อยู่อาศัยนับว่าสูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2564 ซึ่งมีสัดส่วน NPLอยู่ที่ 6.89%
ห่วง NPL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ธปท. ระบุอีกว่า ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้สูง รวมถึงธุรกิจในกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ NPLยังมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (NPL Cliff)
เปิดแนวโน้มสินเชื่อไตรมาส 4
สำหรับแนวโน้มไตรมาส 4 สุวรรณีคาดว่าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) จะ ‘ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย’ เนื่องจาก ธปท. เห็นตัวเลขการปล่อยสินเชื่อในเดือนตุลาคมแล้วว่า ‘ปรับตัวดีขึ้น’ นอกจากนี้ จากตัวเลขการให้สินเชื่อแบบไตรมาสต่อไตรมาสก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 ไตรมาสติด