×

เงินบาท ‘อ่อนค่า’ หนักทะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์ หลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า จับตาแนวโน้มบาทเสี่ยงอ่อนค่า-ผันผวนจากความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้า

03.02.2025
  • LOADING...

เงินบาท ‘อ่อนค่า’ หนักทะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์ จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนที่ 33.67 บาทต่อดอลลาร์ หลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเม็กซิโก แคนาดา และจีน หวั่นธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ชะลอลดดอกเบี้ย Krungthai GLOBAL MARKETS เตือน แนวโน้มเงินบาทเสี่ยงกลับมาอ่อนค่าลง แนะควรเตรียมรับมือความผันผวนจากความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลทรัมป์ 2.0

 

วันนี้ (3 กุมภาพันธ์) พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.03 บาทต่อดอลลาร์ ‘อ่อนค่าลงหนัก’ จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 33.67 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 33.50-34.65 บาทต่อดอลลาร์

 

“นับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงหนัก (แกว่งตัวในกรอบ 33.54-34.17 บาทต่อดอลลาร์) โดยในช่วงแรกเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 2.6% (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE อยู่ที่ระดับ 2.8%) ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ มากนัก 

 

“ทว่าจุดเปลี่ยนของตลาดการเงินนั้นอยู่ที่การประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากเม็กซิโก แคนาดา และจีน โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจหนุนให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงช้าหรือปรับตัวสูงขึ้น จนทำให้ Fed อาจชะลอการลดดอกเบี้ย” พูนกล่าว

 

 

โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดได้ปรับลดโอกาส Fed เดินหน้าลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50 bps ในปีนี้ เหลือ 60% ส่วนการลดดอกเบี้ยในปีหน้า ผู้เล่นในตลาดก็ปรับลดโอกาสการลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง หรือ 25 bps เหลือ 78% จากเดิมที่เคยให้โอกาสสูงเกิน 90% ซึ่งการปรับเปลี่ยนมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดหนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นแรง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ท่ามกลางความกังวลว่าสหรัฐฯ อาจเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากยุโรปด้วยเช่นกัน 

 

ฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ดัชนี PMI ภาคการผลิต รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในเดือนมกราคม โดยในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ CPI เราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย +0.10% จากเดือนก่อนหน้า หรือราว +1.30%YoY ตามอานิสงส์ของการทยอยปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารสด และฐานราคาสินค้าและบริการที่ต่ำในปีก่อน

 

ทว่าราคาพลังงานที่ปรับตัวลงจากเดือนก่อนหน้าก็มีส่วนกดดันอัตราเงินเฟ้อทั่วไป นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลการดำเนินงานของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

 

เปิดแนวโน้มเงินบาทสัปดาห์นี้

 

สำหรับแนวโน้มเงินบาท หากประเมินจากกลยุทธ์ Trend Following มองว่า เงินบาทเสี่ยงที่จะกลับมาทยอยอ่อนค่าลง หรืออย่างน้อยแกว่งตัว Sideways หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวต้าน 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์อย่างชัดเจน ซึ่งภาพดังกล่าวก็มีความเป็นไปได้สูง หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นแรงตามความกังวลผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าล่าสุดของรัฐบาลทรัมป์ 2.0

 

ทั้งนี้ ต้องจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิดด้วย เนื่องจากหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ก็อาจพอช่วยหนุนเงินบาทได้

 

“แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่าเงินบาทเสี่ยงกลับมาอ่อนค่าลง โดยเฉพาะหากอ่อนค่าทะลุโซน 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ที่ในระยะหลังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทสูงกว่า 70% ส่วนฟันด์โฟลวนักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย มีแนวโน้มที่จะเห็นแรงขายหุ้นไทยเพิ่มเติม ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด” พูนกล่าว

 

ในส่วนเงินดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองว่า แม้ว่าเงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หนุนโดยภาวะปิดรับความเสี่ยงและความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ทว่าเงินดอลลาร์ก็อาจพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลการจ้างงานออกมาแย่กว่าคาด

 

Krungthai GLOBAL MARKETS ยังคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม เช่น Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising