เงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26 สิงหาคม) ที่ระดับ 32.71 บาทต่อดอลลาร์ แม้จะทรงตัวจากระดับปิดวันก่อนหน้า แต่ถือเป็นทิศทางของการกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อวานนี้ (25 สิงหาคม) นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดบอนด์สูงถึง 2.1 หมื่นล้านบาท และยังซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 3.6 พันล้านบาท
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตลาดการเงินโดยรวมยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ในตลาดเพื่อรอสัญญาณการปรับลด QE จาก Fed ในงานประชุมวิชาการที่แจ็กสันโฮล ทั้งนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นของตลาดได้หนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ โดยดัชนี S&P 500 ปิด +0.22%
นอกจากนี้ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับ 1.34% ทว่าหุ้นเทคฯ ยังคงสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ จากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่ง หนุนให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +0.15%
ส่วนในฝั่งยุโรป แม้ว่าบรรยากาศตลาดโดยรวมจะเปิดรับความเสี่ยง ทว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปอย่างดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) ในเดือนสิงหาคม ที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าคาด ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย +0.07% โดยแรงหนุนของตลาดนั้นมาจากหุ้นในกลุ่ม Cyclical ที่ยังคงปรับตัวขึ้นช่วยพยุงตลาดไว้ อาทิ กลุ่มการเงิน BNP Paribas +2.0% และ ING +1.4%
ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าปรับสถานะถือครองบอนด์ เพื่อรอคอยสัญญาณการปรับมาตรการ QE ของ Fed ในงานประชุมวิชาการที่แจ็กสันโฮล ประกอบกับบรรยากาศตลาดการเงินที่อยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยง ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 4bps สู่ระดับ 1.34% ทั้งนี้ เรามองว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวใกล้ระดับดังกล่าวในระยะสั้น เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตามุมมองของ Fed ต่อแนวโน้มการปรับลด QE ซึ่งรวมถึงอัตราการปรับลดวงการทำ QE ในงานประชุมวิชาการประจำปีของ Fed ที่แจ็กสันโฮล
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์และเดินหน้าลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ตามภาพตลาดที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ผู้เล่นบางส่วนก็มองว่า ในงานประชุมวิชาการของ Fed ที่แจ็กสันโฮลนั้น Fed อาจจะไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลด QE ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ถูกสะท้อนมาในการปรับตัวขึ้นในช่วงก่อนหน้าของเงินดอลลาร์ไปบ้างแล้ว
ทั้งนี้ แรงขายทำกำไรเงินดอลลาร์ได้ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 92.82 จุด หนุนให้สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.177 ดอลลาร์ต่อยูโร นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ได้ช่วยพยุงให้ราคาทองคำยังสามารถแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อยู่ แม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ตาม
สำหรับวันนี้เรามองว่าตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed โดยเฉพาะประธาน Fed ในงานประชุมวิชาการของ Fed ที่แจ็กสันโฮล เพื่อติดตามมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ภายหลังสหรัฐฯ เผชิญการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางการปรับลด QE ของ Fed ได้
โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมีทั้งฝั่งที่มองว่า Fed อาจจะเริ่มส่งสัญญาณและความชัดเจนต่อการทยอยปรับลด QE มากขึ้น หลังภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่ผู้เล่นบางส่วนก็มองว่าปัญหาการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาอาจกดดันให้ Fed ชะลอการส่งสัญญาณการปรับลด QE เนื่องจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น
ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าเงินบาทในระยะสั้นมีแรงหนุนในฝั่งแข็งค่าจาก ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การระบาดในประเทศเริ่มดูทรงตัวและอาจคลี่คลายลงได้ ส่งผลให้รัฐบาลอาจทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวได้ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น นอกจากนี้แนวโน้มเงินบาทที่อาจจะกลับมาแข็งค่ายังได้หนุนให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนกลับเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินมากขึ้น สะท้อนผ่านแรงซื้อตราสารหนี้ระยะสั้น
นอกเหนือจากปัจจัยสถานการณ์การระบาดในประเทศ ภาพตลาดเปิดรับความเสี่ยงก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง หนุนให้สกุลเงินในฝั่งเอเชียแข็งค่าขึ้นตาม ทว่า เรามองว่าแนวโน้มของเงินดอลลาร์จะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังตลาดรับรู้ทิศทางการปรับลด QE ของ Fed ในงานประชุมวิชาการที่แจ็กสันโฮล ทำให้ในช่วงการจะทราบข้อมูลดังกล่าว เงินดอลลาร์ก็อาจแกว่งตัวในกรอบ
อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงขายดอลลาร์ของผู้ส่งออกที่เริ่มตกใจกับการแข็งค่าเงินบาท แต่เรามองว่าเงินบาทอาจชะลอการแข็งค่าเมื่อใกล้กับระดับแนวรับสำคัญใกล้โซน 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ แต่ถ้าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อหลุดแนวรับดังกล่าว ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่ากลับไปได้ถึง 32.25 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี เรายังคงกังวลต่อแนวโน้มการระบาดในไทย และมองว่าการตรวจเชิงรุกยังไม่ครอบคลุมพอที่จะสรุปได้ว่าการระบาดนั้นลดลงแล้ว จึงมองว่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและกลับไปอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของโควิดที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะดีขึ้นจริง รวมถึงแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่อาจกลับไปแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หาก Fed มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการทยอยลด QE ในปีนี้
มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.80 บาทต่อดอลลาร์
เตรียมพบกับฟอรัมที่ผู้บริหาร ‘ต้องดู’ ก่อนวางแผนกลยุทธ์ปีหน้า! The Secret Sauce Strategy Forum คัมภีร์กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตปี 2022
📌 เฟรมเวิร์กกลยุทธ์ใช้ได้จริง
📌 ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทย–โลก
📌 เทรนด์ผู้บริโภค–การตลาด
📌 เคสจริงจากผู้บริหาร
พิเศษ! บัตร Early Bird 999 บาท วันนี้ถึง 27 สิงหาคมนี้เท่านั้น
ซื้อบัตรได้แล้วที่ www.zipeventapp.com/e/the-secret-sauce