จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO) กล่าวว่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18 ธันวาคม) ที่ 29.79 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 29.84 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งยังเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 ปี 7 เดือน โดยกรอบเงินบาทระหว่างวันอยู่ที่ 29.75-29.95 บาทต่อดอลลาร์
โดยตลาดการเงินในช่วงคืนที่ผ่านมายังคงสดใส ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 0.6% ซึ่งถือเป็นการปิดตัวบวกติดกันเป็นวันที่ 3 ด้วยความหวังว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะผ่านสภาในไม่ช้า และตลาดการเงินที่เปิดรับความเสี่ยงนี้หนุนให้สินทรัพย์การเงินอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นดัชนี STOXX 600 ของยุโรป น้ำมันดิบ WTI ไปจนถึงราคาทองคำ ปรับตัวสูงขึ้น 0.3-1.3% พร้อมกันทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ฝั่งนโยบายและเศรษฐกิจกลับไม่สดใสเหมือนตลาดการเงิน ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐฯ (Initial Jobless Claims) ปรับตัวขึ้นมาที่ 8.85 แสนตำแหน่ง สูงที่สุดในรอบ 3 เดือน เช่นเดียวกับเรื่อง Brexit ที่ อัวร์ซูลา แกร์ทรูท ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ส่งสัญญาณเตือนว่าข้อตกลงระหว่าง UK และ EU เกิดขึ้นได้ยาก เพราะทั้งสองฝั่งมีความต้องการที่แตกต่างกันอยู่
ซึ่งทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาดไปจนถึงนโยบายการต่างประเทศที่ไม่มีข้อสรุปเป็นความจริงที่ต้องจับตาต่อในระยะสั้น
ด้านตลาดเงินก็เป็นการเปิดรับความเสี่ยง (Risk on) เต็มตัว บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปีกลับขึ้นมา 0.02% ที่ 0.94% และส่วนต่างระหว่างยีลด์ 5 ปีและ 30 ปีขยับขึ้นไปที่ 1.29% และเงินดอลลาร์กลับอ่อนค่าลง 0.5% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก
ประเด็นดังกล่าวคือปัจจัยหลักที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าลงตามในช่วงนี้ นอกเหนือจากความกังวลเรื่องที่ไทยถูกสหรัฐฯ จับตาเรื่องการแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยเราเห็นแรงขายเงินดอลลาร์จากนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศเข้ามากดดันพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม เราคงมุมมองค่าเงินบาทสิ้นไตรมาสแรกปี 2021 ที่ระดับ 29.30 บาทต่อดอลลาร์ไว้ก่อน และเชื่อว่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงนี้เกิดจากความคาดหวังมากกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ระยะสั้นจึงสามารถอ่อนค่าได้เมื่อไรก็ตามที่ตลาดการเงินทั่วโลกกลับเข้าสู่โลกความจริง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์