เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 21 เดือน ธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินกรอบค่าเงินบาทวันนี้อยู่ที่ 33.20-33.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ด้านแบงก์ชาติมองเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ขณะที่ภาวะเงินไหลกลับตลาดเงินตลาดทุนไทยยังมีผลไม่มาก พร้อมยืนยันดูแลใกล้ชิด
วันนี้ (13 กันยายน) ช่วงเช้า เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.25-33.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นระดับแข็งค่าสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 หรือแข็งค่าสุดในรอบ 21 เดือน ขณะที่กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets) ประเมินกรอบค่าเงินบาทวันนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-33.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
SCB Financial Markets ระบุอีกว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าตามเงินยูโรที่แข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ และราคาทองที่สูงขึ้น ด้าน US Treasury Yields สูงขึ้นหลังเลข PPI สหรัฐอเมริกาออกมา 0.2%MoM สูงกว่าตลาดคาด แต่ปรับลดลงในเวลาต่อมา
ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลดดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) 25 bps ลงมาอยู่ที่ 3.5% แต่ไม่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยครั้งต่อไปชัดเจนนัก ทำให้ Bond Yields ยุโรปสูงขึ้น และเงินยูโรแข็งค่า หลังจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาที่ 230,000 ราย สูงกว่าคาด
แบงก์ชาติยืนยันดูแลบาทใกล้ชิด
ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินบาทผันผวนมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก พร้อมยืนยันติดตามอัตราแลกเปลี่ยนใกล้ชิด เพื่อดูแลไม่ให้ผันผวนมากไปจนกระทบภาคธุรกิจ
สำหรับปัจจัยที่ผลักดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในวันนี้น่าจะเป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดดอกเบี้ย และราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยเฉพาะตัวของไทย
ส่วนปัจจัยภายใน ภาวะเงินไหลเข้าตลาดเงินตลาดทุนไทยยังไม่มีผลมากนัก เนื่องจากจนถึงวานนี้ (12 กันยายน) ยังเป็นเงินไหลออกสุทธิ 101,538.68 ล้านบาท แม้ช่วง 6 วันที่ผ่านมาจะเป็นซื้อสุทธิติดต่อกัน
การเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ยังเกิดขึ้นหลังจากเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564