×

‘เงินบาท’ เปิดตลาดเช้านี้แข็งค่าแตะ 33.30 ต่อดอลลาร์ ตลาดเงินเข้าสู่ช่วงปรับฐาน นักลงทุนจับตาประชุม Jackson Hole สัปดาห์นี้

23.08.2021
  • LOADING...
เงินบาท

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23 สิงหาคม) ที่ระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.36 บาทต่อดอลลาร์

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาปัญหาการระบาดของเดลตา กดดันให้ตลาดการเงินเผชิญการปรับฐานในเกือบทุกสินทรัพย์ ยกเว้น สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างดอลลาร์และบอนด์

 

สำหรับสัปดาห์นี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่งานประชุมวิชาการประจำปีของ Fed ณ เมือง Jackson Hole ซึ่งตลาดจะรอลุ้นทิศทางการปรับลดมาตรการ QE ของ Fed

 

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินโอกาสของการทยอยลด QE ของ Fed ในปีนี้ โดยตลาดจะให้ความสำคัญกับข้อมูลด้านตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีการจ้างงานของรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) 

 

ทั้งนี้ตลาดจะจับตางานประชุมวิชาการ Fed (Jackson Hole Symposium) ซึ่งตลาดคาดว่า Fed อาจมีการส่งสัญญาณถึงการทยอยลด QE รวมถึงมีความชัดเจนในแนวทางการปรับลด QE เช่น อัตราการลด QE เป็นต้น โดยตลาดการเงินอาจผันผวนสูงขึ้นได้ หาก Fed ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะลด QE ได้ในปีนี้ และ Fed อาจลด QE ในอัตราที่สูงกว่ามุมมองของตลาด 

 

ส่วนในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดมองว่าปัญหาการระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจกดดันให้ทั้งภาคการผลิตและการบริการของสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ดังจะเห็นได้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ ที่จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 62.3 จุด และ 59.2 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ขยายตัว)

 

ฝั่งยุโรป ตลาดประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่ของโควิดอาจกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปไม่มากนัก เพราะดัชนี PMI ของทั้งภาคการผลิตและการบริการของยุโรปในเดือนสิงหาคมยังอยู่ที่ระดับ 62 จุด และ 59.5 จุด ตามลำดับ สะท้อนถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตและการบริการ เช่นเดียวกันกับในฝั่งอังกฤษ ทั้งดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนสิงหาคม ก็ยังอยู่ที่ระดับ 59.5 จุด และ 59 จุด ตามลำดับ 

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาการระบาดในยุโรปอาจทำให้ ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (Ifo Business Climate) เดือนสิงหาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 100 จุด

 

ฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7-Day Repo) ไว้ที่ระดับ 0.50% หลังเกาหลีใต้เผชิญการระบาดของโควิดอีกครั้ง ทว่า BOK ก็อาจเริ่มส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ ขึ้นดอกเบี้ย หากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง และเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อระบบการเงินจากภาวะดอกเบี้ยต่ำ 

 

ทั้งนี้ในฝั่งญี่ปุ่น เศรษฐกิจอาจส่งสัญญาณฟื้นตัวจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตที่หนุนโดยความต้องการสินค้าทั่วโลก โดยเฉพาะ Semiconductor, เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนสิงหาคมที่ระดับ 53 จุด ส่วนภาคการบริการ แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะยังคงหดตัวจากปัญหาการระบาดของเดลตา แต่ภาคการบริการก็เริ่มฟื้นตัว สะท้อนจากการปรับตัวขึ้นของ ดัชนี PMI ภาคการบริการที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 หมายถึง หดตัว) 

 

ส่วนในฝั่งเวียดนาม การฟื้นตัวเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนจากปัญหาการระบาดที่ยังคงรุนแรงอยู่และทำให้รัฐบาลยังคงต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด ซึ่งตลาดมองว่าผลกระทบจากปัญหาการระบาดจะทำให้ยอดส่งออกของเวียดนามในเดือนสิงหาคมโตลดลงเหลือ +5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) สอดคล้องกับยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ที่จะโตราว 2%YoY

 

สำหรับฝั่งไทย ปัญหาการระบาดของโควิดทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงคลัสเตอร์การระบาดในโรงงานไทย อาจกดดันให้ยอดการส่งออก (Exports) เดือนกรกฎาคมขยายตัวในอัตราชะลอลงเหลือ +20%YoY เช่นเดียวกันกับ ยอดนำเข้า (Imports) ที่จะโตเพียง 38%YoY จากการนำเข้าวัตถุดิบ รวมถึงสินค้าเพื่อบริโภคในประเทศที่ลดลง ทั้งนี้โดยรวมดุลการค้าของไทยยังคงเกินดุลกว่า 950 ล้านดอลลาร์

 

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท พูน กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอคอยปัจจัยสำคัญอย่าง สัญญาณรวมถึงรายละเอียดเพิ่มเติมของการปรับลดมาตรการ QE ของ Fed ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจถูกสะท้อนบนแนวโน้มเงินดอลลาร์ 

 

นอกจากนี้ปัจจัยปัญหาการะบาดโควิดก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางของค่าเงิน โดยสถานการณ์การระบาดในไทยที่ยังดูมีแนวโน้มยืดเยื้อ อาจกดดันให้ผู้เล่นในตลาดมีความเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้ 0.25% ในการประชุมเดือนกันยายน ซึ่งภาพดังกล่าวจะกดดันให้เงินบาทก็มีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่

 

ทั้งนี้ในส่วนแนวโน้มเงินดอลลาร์ คาดว่าความต้องการ ‘Safe Haven’ ในระยะสั้น คือปัจจัยหนุนโมเมนตัมของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจผันผวนและพลิกอ่อนค่าลงได้บ้าง หากสุดท้าย Fed ไม่ได้ส่งสัญญาณหรือข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทยอยลด QE หรือ Fed แสดงความกังวลปัญหาการระบาดของเดลตา ซึ่งอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดลดโอกาสที่ Fed จะรีบลด QE

 

ส่วนในฝั่งเงินบาท โซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ยังคงเป็นโซนแนวต้านสำคัญ ส่วนแนวรับเงินบาทอยู่ใกล้โซน 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ บรรดาผู้นำเข้าต่างรอทยอยเข้ามาแลกเงินดอลลาร์ โดยมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.40 บาทต่อดอลลาร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X