ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (24 มีนาคม) ที่ระดับ 33.66 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ โดยแนวโน้มเงินบาทยังคงผันผวนในกรอบกว้าง ระหว่างวันมีโอกาสที่เห็นเงินบาทอ่อนค่าไปทดสอบแนวต้านในโซน 33.75 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง เนื่องจากตลาดกังวลว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจขาดดุลมากขึ้นและอาจขาดดุลนานกว่าคาด หากราคาสินค้าพลังงานอยู่ในระดับสูงนาน ขณะที่การท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตลาดการเงินพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงอีกครั้งหลังสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มยืดเยื้อ เนื่องจากการเจรจาสันติภาพยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่าบรรดาประเทศฝั่งตะวันตกอาจใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพิ่มเติม โดยเฉพาะการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย ทำให้ราคาสินค้าพลังงานยังคงปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ราคาสินค้าพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติม หลังบริษัท CPC ของคาซัคสถาน อาจระงับการส่งออกน้ำมันจากผลกระทบของพายุ (คาซัคสถานส่งออกน้ำมันราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 1.2% ความต้องการใช้น้ำมันโลก) ขณะเดียวกัน EIA สหรัฐฯ ยังได้รายงานยอดน้ำมันดิบคงคลังลดลงกว่า 2.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่ายอดน้ำมันดิบคงคลังจะเพิ่มขึ้น 1 แสนบาร์เรล
การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงานได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูง หรือ Stagflation อีกครั้ง ทำให้ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงที่รีบาวด์ขึ้นมาในช่วงก่อนหน้า กดดันให้ดัชนีหุ้นเทค Nasdaq ปรับตัวลง -1.32% ส่วน ดัชนี S&P 500 ปิดตลาด -1.23%
ส่วนในฝั่งยุโรป ความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงแนวโน้มการเกิด Stagflation ได้กดดันให้ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลงราว -1.45% นำโดยแรงขายหุ้นกลุ่ม Cyclical เช่น หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย, กลุ่มการเงิน Louis Vuitton -3.0%, BNP Paribas -2.6% รวมถึงหุ้นกลุ่มเทค ASML -2.1%
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ การกลับมาปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดการเงินส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนเลือกที่จะถือบอนด์ระยะยาว เพื่อหลบความผันผวนในตลาด ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.31%
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระยะสั้นบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มผันผวน เนื่องจากตลาดยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนของสงครามกดดันอยู่ ทว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ หากตลาดเริ่มรับรู้การปรับลดงบดุลของ Fed โดยเราประเมินว่าอาจเห็นบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ แตะจุดสูงสุดใหม่ในปีนี้ที่ระดับ 2.50-2.60% ได้ในช่วงการประชุม Fed เดือนพฤษภาคม ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ จะแกว่งตัว Sideways ในช่วงที่เหลือของปีนี้
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 98.60 จุด โดยผู้เล่นบางส่วนยังเลือกที่จะถือครองเงินดอลลาร์ เพื่อหลบความผันผวนในตลาดจากทั้งความเสี่ยงสงครามและโอกาสเกิด Stagflation
นอกจากนี้ภาวะตลาดปิดรับความเสี่ยงก็หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์กลับขึ้นมาใกล้ระดับ 1,946 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่าควรจับตาแรงขายทำกำไรทองคำ หากราคาทองคำยังไม่สามารถผ่านแนวต้านที่ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ซึ่งโฟลวธุรกรรมขายทำกำไรทองคำอาจช่วยหนุนให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมากในช่วงนี้
สำหรับวันนี้ตลาดจะรอติดตามสถานการณ์สงคราม การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงบทสรุปของการประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐฯ, พันธมิตร NATO, กลุ่มประเทศยุโรป และกลุ่มประเทศ G7 ว่าจะมีท่าทีต่อสถานการณ์สงครามอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย หลังเริ่มมีการพูดถึงมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งหากบรรดาประเทศฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะยุโรป พร้อมใจกันคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย อาจส่งผลให้ราคาสินค้าพลังงานพุ่งสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ และกดดันให้ตลาดการเงินผันผวนรุนแรงจากความกังวลภาวะ Stagflation
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทเรามองว่า เงินบาทยังคงผันผวนในกรอบกว้าง โดยระหว่างวันมีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปทดสอบแนวต้านในโซน 33.75 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้งท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดและราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจขาดดุลมากขึ้นและอาจขาดดุลนานกว่าคาด หากราคาสินค้าพลังงานอยู่ในระดับสูงนาน ขณะที่การท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก
ทั้งนี้เรามองว่า ยังคงต้องติดตามทิศทาง Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติ หลังจากที่ล่าสุดนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทย ขณะเดียวกันเราเริ่มเห็นแรงขายบอนด์ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งต้องติดตามว่านักลงทุนต่างชาติจะเดินหน้าเทขายต่อหรือจะกลับมาซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้นอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่
ทั้งนี้ ในระยะสั้นเงินบาทยังคงมีแนวต้านของเงินบาทจะอยู่ใกล้โซน 33.75 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรายังคงเห็นบรรดาผู้ส่งออกต่างมารอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ขณะที่แนวรับจะอยู่ในช่วง 33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งใกล้กับแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน และ 200 วัน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.55-33.75 บาทต่อดอลลาร์
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP