×

‘เงินบาท’ แข็งโป๊ก! Fund Flow ไหลเข้า ‘หุ้น-บอนด์’ อีก 1 หมื่นล้านบาท กดดันค่าเงินแตะ 32.24 ต่อดอลลาร์

31.08.2021
  • LOADING...
เงินบาท

สถานการณ์ ‘เงินบาท’ ของไทยยังคงกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว โดยวันนี้ (31 สิงหาคม) เงินบาทปิดตลาดที่ 32.24 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากดูย้อนหลังไปเมื่อ 10 วันก่อนหน้านี้ หรือเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เงินบาททำจุดอ่อนสุดในรอบนี้ที่ระดับ 33.47 บาทต่อดอลลาร์ เท่ากับว่าในเวลาเพียงแค่ 11 วัน เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้ว 1.23 บาท หรือราว 3.7%

 

สำหรับในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร (บอนด์) ไทย รวมมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิในตลาดหุ้น 3,893 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตลาดบอนด์ 6,360 ล้านบาท

 

สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาในตลาดบอนด์ยังคงซื้อตัวสั้นเป็นหลัก สะท้อนถึงการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงิน และถ้าดูค่าเงินบาทเฉพาะสัปดาห์นี้ หรือในช่วง 2 วันทำการที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 1.3% เป็นระดับการแข็งค่าสุดในภูมิภาค รองลงมาคือ เงินรูเปียห์อินโดนีเซีย แข็งค่าขึ้น 1% ตามมาด้วย เงินรูปีของอินเดีย แข็งค่าขึ้น 0.9% 

 

“เรายังเห็นเงินต่างชาติโหมเข้ามาต่อเนื่อง และส่วนใหญ่เข้าในตัวสั้นๆ ซึ่งการเข้ามาในสัปดาห์นี้มาจากปัจจัยต่างประเทศ หลังจากที่ Fed (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) ส่งสัญญาณว่าจะยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แม้จะเริ่มต้นลดมาตรการ QE ในสัปดาห์นี้ก็ตาม ซึ่งแตกต่างจากสัปดาห์ก่อนที่เงินไหลเข้ามา เพราะมองว่าสถานการณ์โควิดในประเทศไทยน่าจะพ้นจุดต่ำสุด”

 

อย่างไรก็ตาม สงวนแนะนำว่า ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด โดยระยะสั้นมีโอกาสที่จะไหลเข้ามาต่อเนื่อง และอาจกดดันให้ค่าเงินบาทร่วงลงมาแตะระดับ 32 ต่อดอลลาร์ได้ แต่เชื่อว่าระดับการแข็งค่าจากนี้ไปคงจะไม่เร็วมากนัก เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยไม่ได้รองรับ

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี กล่าวว่า การกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทในรอบนี้เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอ่อนค่าเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค และเมื่อบวกกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยที่เริ่มดูดีขึ้น จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามา แต่ถ้าดูแรงซื้อส่วนใหญ่ เป็นการซื้อบอนด์ระยะสั้นโดยหวังเก็งกำไรค่าเงินมากกว่า 

 

นอกจากนี้การส่งสัญญาณของ Fed ที่ประกาศว่าจะยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ยิ่งทำให้เงินลงทุนบางส่วนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการแข็งค่าของเงินบาทในรอบนี้ คงเป็นเพียงแค่ช่วงสั้นๆ เพราะถ้าดูพื้นฐานทางเศรษฐกิจแล้วยังขาดปัจจัยรองรับอยู่มาก ประกอบกับตัวดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยก็ยังขาดดุลอย่างต่อเนื่อง หากสถานการณ์โควิดในประเทศไม่ได้ดีขึ้นจริง มีโอกาสที่เงินบาทจะกลับไปอ่อนค่าได้ 

 

“เรายังมองค่าเงินบาทปลายปีที่ 33.5 บาท สาเหตุเพราะช่วงปลายปีหาก Fed ลดปริมาณ QE จริงก็คงมีผลต่อสภาพคล่องในระบบ เงินทุนบางส่วนคงไหลออก โอกาสที่เงินบาทจะกลับไปอ่อนค่าจึงยังมี ดังนั้นช่วงจังหวะที่เงินบาทแข็งค่านี้จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการนำเข้าจะรีบล็อกค่าเงินไว้”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X