×

‘เงินบาท’ เปิดตลาดเช้าวันนี้แตะ 33.27 ต่อดอลลาร์ ทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปี 10 เดือน แนวโน้มไหลลงต่อจากพิษโควิด

โดย THE STANDARD TEAM
06.08.2021
  • LOADING...
เงินบาท

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6 สิงหาคม) ที่ระดับ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากราคาปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 33.24 บาทต่อดอลลาร์ และยังถือเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 2 ปี 10 เดือน นับจากเดือนตุลาคม 2018

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตลาดการเงินโดยรวมกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง จากแรงหนุนของรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ต่างออกมาดีกว่าคาด ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มคลายความกังวลปัญหาการระบาดของเดลตา หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ล่าสุดปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.84 แสนราย ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดล้วนมีความหวังว่ารายงานข้อมูลตลาดแรงงานในวันนี้ อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ซึ่งทั้งผลกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่าคาดและความกังวลต่อปัญหาการระบาดเดลตาที่ลดลง หนุนให้ดัชนี Dow Jones พลิกกลับมาปิดบวก +0.78% เช่นเดียวกับดัชนี S&P 500 ที่ปรับตัวขึ้นราว +0.60% ขณะเดียวกันหุ้นเทคฯ ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ หลัง Bond Yield 10 ปี สหรัฐฯ ยังทรงตัวในระดับต่ำต่อไป และผลประกอบการของหุ้นกลุ่มเทคฯ ก็ยังคงสดใส หนุนให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดบวก +0.78%

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้น +0.38% นำโดยหุ้นในกลุ่มเทคฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังรายงานผลปะกอบการของหุ้นกลุ่มเทคฯ ยังคงออกมาดีต่อเนื่อง SAP +2.19%, Infineon +2.02%, Adyen +1.57% ขณะเดียวกันแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ได้หนุนการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้นกลุ่มการบินและกลุ่มธนาคาร Airbus +1.92%, Safran +1.90%, Allianz +1.67%, ING +1.20%

 

ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดบอนด์เริ่มทยอยขายทำกำไรการถือบอนด์ระยะยาวมากขึ้น หลังตลาดการเงินโดยรวมก็กลับมาเปิดรับความเสี่ยง ขณะเดียวกันบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed ต่างส่งสัญญาณพร้อมทยอยลด QE ได้ในปีนี้ หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้นตามคาด ส่งผลให้ Bond Yield 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 4bps สู่ระดับ 1.22% ซึ่งก็ยังคงเป็นระดับที่ต่ำนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

 

ส่วนในฝั่งตลาดเงิน ถ้อยแถลงของเจ้าหน้า Fed ที่ออกมาสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างการทยอยลด QE ภายในปีนี้ รวมถึงการปรับตัวขึ้นของ Bond Yield 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงช่วยพยุงให้เงินดอลลาร์สามารถทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก แม้ว่าตลาดจะกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นก็ตาม 

 

โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 92.30 จุด กดดันให้ ค่าเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.183 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนค่าเงินเยน (JPY) ก็อ่อนค่าลงแตะระดับ 109.8 จุด ในขณะที่เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) กลับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 1.393 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น และมองว่านโยบายการเงินที่เข้มงวดอาจมีความจำเป็นมากขึ้น ซึ่ง BOE ก็พร้อมจะลดการอัดฉีดสภาพคล่องในอนาคต

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ เป็นสำคัญ โดยการจ้างงานอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่บ้าง แต่โดยรวมยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเดือนกรกฎาคมจะเพิ่มขึ้นกว่า 8 แสนตำแหน่ง หนุนให้อัตราว่างงานลดลงเหลือ 5.7% นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการที่แข็งแกร่งและดีกว่าคาดจะช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุนได้ 

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ปัญหาการระบาดของโควิดระลอกใหม่จะส่งผลให้เศรษฐกิจในโซนเอเชียมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะสั้น กดดันให้บรรดาธนาคารกลางในเอเชียเลือกที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยธนาคารกลางอินเดีย (RBI) มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repurchase Rate) ที่ระดับ 4.00% ต่อไป แม้ว่าสถานการณ์การระบาดจะเริ่มดีขึ้น หลังเกิด Natural Herd Immunity แต่ก็แลกมาด้วยความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมมหาศาล 

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่จากปัญหาการระบาดของโควิด รวมถึงแรงซื้อดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าที่อาจเข้ามาเร่งปิดความเสี่ยง เนื่องจากกังวลว่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าเร็วและแรง 

 

“เรามองว่าในระยะสั้นอาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปได้ถึง 33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก หากสถานการณ์การระบาดยังคงเลวร้ายต่อเนื่องและเงินดอลลาร์ยังคงมีโมเมนตัมขาขึ้นอยู่ ซึ่งอาจจะหนุนด้วยถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed ที่ต่างออกมาสนับสนุนการทยอยลด QE ในปีนี้ หรือรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ พลิกกลับมาดีกว่าคาด ในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะยุโรป อาจชะลอตัวลงจากปัญหาการระบาดของโควิด”

 

นอกจากนี้ยังมองไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับเทรนด์มาแข็งค่าได้ในเร็วๆ นี้ ทำให้ค่าเงินบาทยังเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์การระบาดจะเริ่มมีทิศทางดีขึ้น ซึ่งอาจต้องรอในช่วงต้นเดือนกันยายน โดยกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.35 บาทต่อดอลลาร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X