เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ลงเกือบครึ่งหนึ่งจากระดับ 3% เหลือเพียง 1.8%
ที่สำคัญ ธปท. ยังได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลข ‘ดุลบัญชีเดินสะพัด’ จากเดิมที่คาดว่าจะ ‘เกินดุล’ ในปีนี้ราว 1.2 พันล้านดอลลาร์ เป็น ‘ขาดดุล’ 1.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งหากเป็นไปตามที่ ธปท. คาดการณ์ไว้จริง จะถือเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีนับจากปี 2556 ที่ไทยเผชิญกับภาวะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว หลัง ธปท. ได้ประกาศตัวเลขดังกล่าวออกมา โดยล่าสุดวันนี้ (24 มิถุนายน) เงินบาทปิดตลาดที่ 31.86 บาทต่อดอลลาร์ ระหว่างวันทำสถิติอ่อนค่าสุดที่ระดับ 31.99 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นระดับอ่อนสุดในรอบ 13 เดือน
ทั้งนี้ หากย้อนดูสถิติในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า เงินบาทนับเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าสุดในภูมิภาค โดยอ่อนค่าลงราว 1.5% รองลงมาคือ เงินดอลลาร์ไต้หวัน อ่อนค่าลง 0.8% และเงินเปโซฟิลิปปินส์ อ่อนค่าลง 0.7%
รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทที่เร็วและรุนแรงในขณะนี้ เป็นผลมาจากแรงกดดันทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในของไทยเอง
โดยปัจจัยภายนอกคือการปรับประมาณการ Dot Plots ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รอบล่าสุด ซึ่งบ่งชี้ว่าสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 2 ครั้งในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่ได้ส่งสัญญาณในเดือนมีนาคมว่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567
“ประเด็นนี้เป็นภาพใหญ่ที่ทำให้ตลาดกังวลและส่งผลให้เงินสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี การที่เงินบาทอ่อนค่าลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทอ่อนค่าลงไปแล้วถึง 6% นั้นเป็นผลมาจากปัจจัยภายในของไทยเองด้วย ทั้งความไม่ชัดเจนเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แผนการเปิดประเทศ รวมถึงแนวโน้มที่ไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากการขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมายาวนานถึง 15 เดือน” รุ่งกล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า แนวโน้มเงินบาทในระยะ 1-2 เดือนต่อจากนี้มีโอกาสจะอ่อนค่าหลุดจากกรอบ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารจะมีการปรับประมาณการเงินบาทในปี 2564 อีกครั้ง หลังเห็นภาพนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ชัดขึ้นในเวที Jackson Hole Symposium ในเดือนสิงหาคมนี้
ด้าน จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงแรงในช่วงที่ผ่านมา คือราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งแม้ว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวได้สูง แต่ยังไม่สามารถชดเชยการนำเข้าได้ โดยข้อมูลจากกรมศุลกากรระบุว่า การส่งออกไทยเติบโต 40% แต่การนำเข้าก็โตขึ้น 60% เช่นกัน ดังนั้นโอกาสที่ไทยจะเกินดุลในปีนี้คงเป็นไปได้ยาก
จิติพลกล่าวว่า ปัจจัยต่อมาที่กดดันเงินบาทคือการทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยงในไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีสัญญาณไหลออกในตลาดพันธบัตรให้เห็นแล้ว ทั้งนี้ ประเมินว่าปัจจัยข้างต้นจะทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงไปสู่ระดับ 32.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ภายในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าลงไปกว่าตัวเลขดังกล่าว เนื่องจากในช่วงปลายปี เงินทุนต่างชาติมีโอกาสจะไหลกลับเข้ามาในเอเชียอีกครั้งจากความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะมีความชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ ค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาดที่ระดับ 31.84 บาทต่อดอลลาร์ โดยระหว่างวันได้อ่อนค่าไปสู่ระดับสูงสุดที่ 31.98 บาทต่อดอลลาร์ ทำลายสถิติการปิดตลาดในวันก่อนที่ระดับ 31.86 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 1 ปี 24 วัน นับจากเดือนพฤษภาคม 2563
นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี กล่าวว่า เงินบาทในช่วงนี้อ่อนค่าลงค่อนข้างเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่มีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากทั้งราคาน้ำมันที่ขยับขึ้น ทำให้การนำเข้าน้ำมันของไทยมีต้นทุนสูงขึ้นตามไปด้วย บวกกับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะน้อยลงกว่าที่ประเมินกันไว้
“รอบสัปดาห์นี้เราจะเห็นชัดเจนเลยว่า เงินบาทอ่อนลงเร็วมาก สัปดาห์เดียวอ่อนค่าลงไปถึง 1.5% เทียบกับอันดับสองคือ ไต้หวันที่อ่อนลง 0.8% และฟิลิปปินส์ที่อ่อนลง 0.7% จะเห็นว่าเราอ่อนลงกว่าคนอื่นเยอะพอสมควร”
ส่วนแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้ เดิมศูนย์วิเคราะห์ทีทีบีประเมินไว้ว่าน่าจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงแตะระดับ 32.50 บาท แต่จากระดับของเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ อาจทำให้ต้องเกาะติดสถานการณ์เพื่อมาประเมินตัวเลขกันใหม่
นริศกล่าวด้วยว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงคงต้องจับตาดูว่าจะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อมากน้อยแค่ไหน เพราะด้วยเงินบาทที่อ่อนลงทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันซึ่งไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อภายในประเทศ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์