ค่าเงินบาทในช่วงเช้าวันนี้ (15 กรกฎาคม) อ่อนค่าไปแตะระดับ 36.70 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 15 ปี 8 เดือน นับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549
สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องในขณะนี้คือการขยับขึ้นดอกเบี้ยที่ล่าช้าของไทย เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ด้วยกัน ทั้งที่เงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่า ทำให้ตลาดมองว่านโยบายการเงินของไทย Behind the Curve
“แม้ ธปท. จะออกมายืนยันว่า เราไม่ Behind the Curve แต่ตลาดมองว่าเราทำน้อยเกินไป เทียบกับประเทศใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย เงินเฟ้อเขาอยู่ที่ 3-4% แต่ขยับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง ฟิลิปปินส์ก็เพิ่งจะขึ้นดอกเบี้ยไป 0.75% ในส่วนของไทยแบงก์ชาติยังยืนยันว่าจะขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปอยู่ ทำให้เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า” สงวนกล่าว
สงวนระบุว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าการที่ไทย Behind the Curve เป็นความจงใจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เลือกใช้กลยุทธ์นี้ เนื่องจากมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยมากจะทำให้มีปัญหาตามมาเยอะ ขณะที่การปล่อยให้ค่าเงินบาทอ่อนเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยที่สุด
“ช่วงนี้เราคงต้องจับตาดูการส่งสัญญาณจากแบงก์ชาติว่า จะยังยืนยันเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือจะเปิดโอกาสให้มีการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนสิงหาคม ถ้า ธปท. ยังยืนยันจุดยืนเดิม หรือขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.25% ในการประชุมที่กำลังจะมาถึง เงินบาทอาจมีโอกาสอ่อนค่าไปถึงระดับ 37.50 บาทต่อดอลลาร์” สงวนกล่าว
ทั้งนี้ สงวนประเมินว่า จุดกลับตัวของเงินบาทในรอบนี้อาจต้องรอถึงเดือนกันยายนและตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดคาดว่าดอลลาร์จะเริ่มกลับมาอ่อนค่า
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP