การเคลื่อนไหวเงินบาทอ่อนค่ามากสุดในรอบประมาณ 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2566 โดยค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้วันนี้ (2 เมษายน) อยู่ที่ระดับ 36.6 บาทต่อดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากช่วงปิดตลาดเย็นวานนี้ (1 เมษายน) ที่ระดับ 36.4 บาทต่อดอลลาร์
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่าแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างหนักและอ่อนมากกว่าสกุลเงินในภูมิภาคมาจากผลกระทบของปัจจัยกดดันทั้งจากในประเทศและนอกประเทศ โดยเฉพาะกรณีที่เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าเร็วหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) 10 ปี ขยับเพิ่มขึ้น ตอบรับที่สหรัฐฯ รายงานตัวเลขดัชนีภาคการผลิตเดือนมีนาคม 2566
โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) รายงานตัวเลขออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด โดยดัชนีภาคการผลิตเดือนมีนาคมของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นอยู่ที่ระดับ 50.3 จากในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ระดับ 47.8 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 48.1 สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนเริ่มมีความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยก่อนหน้านี้ตลาดคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC)ของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ จากระดับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 5.25-5.50%
สำหรับปัจจัยกดดันในประเทศ การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 10 เมษายนนี้ ตลาดคาดว่าเริ่มเห็นการปรับลดดอกเบี้ยลงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งนี้ ปัจจุบันเป็นช่วง Silent Period ก่อนการประชุม กนง. ส่งผลให้ ธปท. ไม่สามารถให้ข้อมูลเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินได้
การเคลื่อนไหวค่าเงินบาทย้อนหลัง 6 เดือน
อย่างไรก็ดี ในการให้ข้อมูลสื่อสารของ ธปท. ต่อสาธารณะในการประชุม กนง. ครั้งแรกของปี 2567 ที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธปท. ได้สื่อสารข้อมูลแก่สาธารณะโดยให้น้ำหนักถึงเหตุผลความจำเป็นในการคงดอกเบี้ย
จับตาเงินบาทเสี่ยงอ่อนแตะ 40 บาท
“ต้องจับตาแนวโน้มค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดว่าเป็นการอ่อนค่าชั่วคราวหรือจะอ่อนค่าลงไปแบบต่อเนื่อง โดยเงินบาทวันนี้อ่อนค่าลงมาแรงกว่าสกุลเงินประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเริ่มมีการคาดการณ์ว่าการประชุม กนง. ในวันที่ 10 เมษายนนี้ มีโอกาสมากขึ้นที่จะลดดอกเบี้ยลงจากปัจจุบันที่ระดับ 2.50% เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ เพราะการสื่อสารของ ธปท. ก็ยังไม่ชัดเจน ถ้าลดจริงในวันที่ 10 เมษายนนี้ จะเป็นการลดดอกเบี้ยก่อน Fed ซึ่งยังประเมินไม่ได้ว่าจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติอย่างไร เพราะอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายทิ้งสินทรัพย์ที่เป็นเงินบาทก่อนที่จะมีการลดดอกเบี้ยจริง”
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
CIMB คาดการณ์ว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนวน 2 ครั้งในปีนี้ โดยลดครั้งละ 0.25% โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงจาก 2.50% เป็น 2% ภายในสิ้นปี จากศักยภาพทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกน่าจะเกิดขึ้นในรอบการประชุมในเดือนเมษายนนี้ ดังนั้นคาดการณ์ว่าเงินบาทจะอ่อนค่าถึง 37 บาทต่อดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2567
อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทช่วงสิ้นปี 2567 มีความเสี่ยงที่จะเห็นการอ่อนค่าหนักลงไปแตะ 40 บาทต่อดอลลาร์ได้ หาก กนง. มีการลดดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้เป็นจำนวน 3-4 ครั้งภายในปี 2567 เพื่อทำให้เงินบาทอ่อนค่า หวังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวและส่งออกของไทย
ทั้งนี้ ประเมินว่าอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติให้ลดลง ส่งผลให้มีกระแสเงินลงทุน (Fund Flow) ไหลออกจากประเทศไทยมากขึ้น โดยโยกไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์แทน เพราะความเชื่อมั่นหรือน่าสนใจต่อเงินบาทนั้นลดลง และแม้เงินบาทจะอ่อนค่าลงจะเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว และทำให้ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ก็ไม่สามารถทดแทน Fund Flow ที่ไหลออกจากไทยอย่างหนักได้
“ผมมองเงินบาทปลายปีนี้จะอยู่ที่ 37 บาท แต่กังวลว่ามีโอกาสจะอ่อนไปทะลุ 37 บาทไปแตะ 40 บาทได้ ยังมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะอ่อนค่าแรงต่อเนื่องหาก กนง. ลดดอกเบี้ย 3-4 ครั้งในปีนี้ ซึ่งการลดดอกเบี้ยไม่ใช่การกระตุ้น แต่เป็นการประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดไปมากกว่านี้ ดังนั้นหากจะทำให้เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนใหม่คงต้องอาศัยเงินบาทที่อ่อนค่าเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งเครื่องยนต์ท่องเที่ยวกับส่งออกให้ดีขึ้น”
บาทอ่อนหนัก เสี่ยงดันเงินเฟ้อพุ่ง
ดร.อมรเทพ กล่าวต่อว่า แม้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะดีกับภาคการส่งออกและท่องเที่ยว แต่อีกด้านก็มีผลกระทบเชิงลบที่ต้องติดตามและบริหารจัดการ ซึ่งก็คือความเสี่ยงเงินเฟ้อของไทยมีโอกาสทยอยเร่งตัวสูงขึ้นได้ เพราะไทยจะมีต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า รวมถึงราคาน้ำมันที่นำเข้ามาเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจะทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงมาตรการในการดูแลแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจากผลกระทบที่จะตามมาดังกล่าว
สำหรับกรณีที่ในวันที่ 10 เมษายนนี้ จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และแถลงรายละเอียดแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการนั้น หากแหล่งที่มาของเงินใช้จากงบประมาณหรืองบกลางของรัฐบาล รวมถึงไม่กู้เงินมากเกินไปจนกระทบกรอบวินัยการเงินการคลัง ก็จะยังไม่น่ากังวลและยังไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลใช้วิธีการเร่งกู้เงินก่อหนี้จำนวนมากเพื่อนำมาใช้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจนกระทบกรอบวินัยการเงินการคลัง ก็อาจจะกระทบต่อเครดิตเรตติ้งของประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ โดยกรณีนี้อาจมีผลกระทบกดดันค่าเงินบาทเพิ่มเติมให้มีแนวอ่อนค่าลงอีกได้
หวั่น Fed ชะลอลดดอกเบี้ย
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้เปิดที่ระดับ 36.60 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงหนักจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.43 บาทต่อดอลลาร์ มาจากการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วและแรงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตในเดือนมีนาคมออกมาดีกว่าคาด ทำให้ตลาดยังคงกังวลว่า Fed อาจชะลอการลดดอกเบี้ยหรืออาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้งในปีนี้
นอกจากนี้เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลวธุรกรรมทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงตามการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลงบ้างในช่วงโซนแนวต้าน 36.60 บาทต่อดอลลาร์ จากแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน และการรีบาวด์ขึ้นกว่า 20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ของราคาทองคำ ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำบ้าง
อีกทั้งในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมปีนี้ จะเป็นฤดูกาลที่นักลงทุนต่างชาติรับเงินปันผลจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นเงินประมาณ 7 หมื่นล้านบาท หากมีการนำเงินออกก็จะเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาท รวมถึงความกังวลว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยในปีนี้จำนวน 2 ครั้ง ก็มีความเสี่ยงที่เงินบาทจะอ่อนค่าไปแตะระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ได้
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย
สำหรับฝั่งตลาดตราสารหนี้ บอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.30% หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาสดใส สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ให้ระวังความผันผวนของบอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ ที่อาจปรับตัวขึ้นได้ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด
อย่างไรก็ดี มุมมองระยะยาวของเราต่อแนวโน้มบอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้เราคงประเมินว่าบอนด์ระยะยาวอย่างบอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงกว่าที่ระดับ 4.20%
จับตาข้อมูล Job Openings
สำหรับคืนวันนี้ (2 เมษายน) ตามเวลาประเทศไทย มีปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ เกี่ยวกับยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ที่จะช่วยสะท้อนภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้
นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ Fed ที่มีมุมมองเชิง Hawkish, Dovish และ Neutral ต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของ Fed ทำให้ตลาดการเงินอาจเคลื่อนไหวผันผวนไปตามมุมมองที่ต่างกัน
อย่างไรก็ดี มองว่าหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ Fed ไม่ได้ทำให้ตลาดเชื่อว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 3 ครั้ง ก็จะยังไม่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าไปมาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่อาจต้องการรอจับตารายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้
คาดประชุม กนง. 10 เม.ย. นี้ มีมติคงดอกเบี้ย
อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ คาดว่าการประชุม กนง. ในวันที่ 10 เมษายนนี้ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ตามเดิม แต่มีแนวโน้มที่จะมีมติเสียงคัดค้านเพิ่มขึ้นจากเดิม 5:2 ครั้งก่อน เป็น 4:3 ครั้งนี้ โดย บล.ทิสโก้ คาดว่า กนง. มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายราว 0.50% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันตลาดเริ่มประเมินโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยได้เร็วมีความเป็นไปได้มากขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางสำคัญของโลกส่งสัญญาณเชิงบวกต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยในปีนี้