×

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไม่เหมือนเดิม? เมื่อ ‘คนไทยหนี้ท่วม แบงก์เข้มปล่อยกู้ และ EV เข้ามาแย่งตลาดรถยนต์สันดาป’

25.07.2023
  • LOADING...
อุตสาหกรรมยานยนต์

จับตาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยครึ่งหลังของปี 2566 ระหว่างรอรัฐบาลใหม่ ส.อ.ท. ปรับเป้าผลิตรถยนต์ปี 2566 เหลือ 1.9 ล้านคัน เน้นลดยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลง 5 หมื่นคัน เหลือ 8.5 แสนคัน แต่ยังคงเป้าการผลิตเพื่อส่งออกอัตราเดิมที่ 1.05 ล้านคัน หลังจากเห็นสัญญาณยอดขายในประเทศแผ่วอย่างชัดเจน จากสารพัดปัจจัยกดดันทั้งแบงก์คุมเข้มปล่อยสินเชื่อ คนไทยเผชิญหนี้ครัวเรือนพุ่ง 90.6% ของ GDP รวมถึงภาคการส่งออกหดตัว ทำให้ภาคการผลิตมีการลดกะการทำงานของพนักงานและลดโอที บวกกับกระแสความนิยมในรถยนต์ EV และการหั่นราคาขายของผู้นำเข้ารถยนต์ EV จนรถยนต์สันดาปสั่นสะเทือนทั้งตลาด 

 

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2566 ลดลง 50,000 คัน โดยลดการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลงเหลือเป็น 8.5 แสนคัน หรือลดลง 5.56% จากเดิมวางเป้าหมายการผลิตรวมอยู่ที่ 1.95 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 1.05 ล้านคัน ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 9 แสนคัน ด้วยการผลิตรวม 1.9 ล้านคัน ทั้งนี้ เพื่อรักษาการส่งออกไว้คงเดิมที่ 1.05 ล้านคัน 

 

สำหรับสาเหตุหลักที่ปรับเป้าเนื่องจากยอดจำหน่ายในประเทศลดลงจากการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยเฉพาะการนำเข้าจากค่ายรถยนต์จีนที่เริ่มเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันหรือสันดาปภายในมากกว่า 5% ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจากการนำเข้าที่ยังไม่ได้ผลิตในประเทศทั้งสิ้น

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีหลังยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หากมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วยราคาต่ำเพื่อมาทำตลาดเพิ่มอีก ก็จะกระทบมากขึ้นตามลำดับ 

 

ขณะเดียวกัน สาเหตุที่ยอดขายในประเทศลดลงยังมาจากการที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ และจากหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งส่งผลให้อำนาจซื้อลดลงตามไปด้วย 

 

ประกอบกับการส่งออกของไทยที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ทำให้ภาคการผลิตมีการลดกะและโอที ทั้งการผลิตและการทำงานลง และยังมีปัจจัยอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงเป็นขาขึ้น ค่าครองชีพในไทยที่สูง ประชาชนจึงระมัดระวังการใช้จ่าย โดยจะเห็นได้จากค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่ไม่เพียงพอ คนผ่อนรถไม่ไหว ทำให้ขณะนี้มีการยึดรถเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

  

จัดตั้งรัฐบาลช้า มีผลต่อการนำเข้า EV สะเทือนความเชื่อมั่นนักลงทุน

 

สุรพงษ์กล่าวอีกว่า การจัดตั้งรัฐบาลของไทยในปัจจุบันที่ล่าช้า แม้ยังไม่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งยังเชื่อมั่นว่าการจัดตั้งรัฐบาลน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ แต่หากนานกว่านั้น สิ่งที่ต้องติดตามคือมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ‘มาตรการ EV3.5’ ตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ที่วางไว้ในการสนับสนุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงเงินสนับสนุนที่ผ่านมา 

 

หากไม่ต่อเนื่อง ยอมรับว่าจะกระทบต่อการนำเข้า EV เพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยจะส่งผลให้สะดุดลง รวมถึงกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งห่วงโซ่ในประเทศ

 

“ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากพรรคใด ผมยังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลใหม่จะยังคงสนับสนุนตามแนวทางที่บอร์ด EV วางไว้ เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่าคนไทยนิยมใช้รถ EV เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากราคาจับต้องได้ คนไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีทางเลือก และมีความพร้อมด้านสถานีชาร์จมากขึ้น โดยพบว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในเดือนมิถุนายน 2566 มีทั้งสิ้น 8,260 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนถึง 54.74%” สุรพงษ์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X