×

นักดาราศาสตร์ไทย ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ โคจรรอบดาวฤกษ์สองดวง

01.11.2023
  • LOADING...
ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

นักวิจัยไทยร่วมกันค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงที่ 2 ของระบบดาว RR Cae ที่อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 69 ปีแสง โดยถือเป็นครั้งแรกที่มีการพบดาวเคราะห์ในระบบดาวอื่น จากผลงานของคณะนักดาราศาสตร์คนไทยทั้งหมด

 

เนื่องจากดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมักมีระยะห่างไกลจากโลก และมีขนาดที่เล็กมากเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ ทำให้นักดาราศาสตร์ต้องใช้วิธีการโดยอ้อมในการตรวจหา โดยการค้นพบครั้งนี้ คณะนักวิจัยไทยได้ใช้เทคนิคการเปลี่ยนแปลงเวลาการบังกันของดาวคู่ หรือ Eclipse Timing Variation โดยอาศัยการสังเกตการณ์การบังกันของดาวคู่อุปราคา เพื่อดูอิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ที่ทำให้ตำแหน่งของดาวคู่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้การบังกันเกิดขึ้นอย่างไม่สม่ำเสมอ

 

ทีมนักวิจัยไทยสังเกตการณ์ระบบดาวคู่ RR Cae ด้วยกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6 เมตร ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ที่ติดตั้งอยู่ ณ ประเทศชิลี และกล้องขนาด 0.7 เมตร ที่ติดตั้ง ณ ประเทศออสเตรเลีย ควบคู่กับฐานข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope และกล้อง TESS ระหว่างปี 2018-2020

 

ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่ถูกพบมีมวลราว 2.7 เท่าของดาวพฤหัสบดี และใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ทั้งสอง อันประกอบด้วยดาวแคระขาวและดาวฤกษ์มวลน้อยสีแดงประมาณ 39 ปี โดยมีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ‘ชาละวันคลัสเตอร์’ ของ NARIT ในการวิเคราะห์ข้อมูล และสร้างแบบจำลองของระบบดาวคู่ RR Cae จากกราฟแสงข้อมูลที่สำรวจได้ในก่อนหน้า

 

ในปัจจุบันนักดาราศาสตร์ยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะแล้วประมาณ 5,000 ดวง โดยมีเพียง 20 ดวงที่พบว่าเป็นดาวเคราะห์ที่โคจรรอบระบบดาวคู่ ในขณะที่ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะนั้นมีความหลากหลายทั้งขนาด มวล คุณลักษณะ และอาจมีจำนวนมากหลายล้านล้านดวงในทั่วเอกภพ ที่ยังรอการสำรวจและยืนยันการตรวจพบอยู่

 

ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและชีวดาราศาสตร์ของ NARIT ผู้เป็นหนึ่งในทีมค้นพบครั้งนี้ ระบุว่าการค้นพบดังกล่าว “แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักดาราศาสตร์ไทย และกล้องโทรทรรศน์ NARIT ในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใหม่ ซึ่งจะช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกต่อไป”

 

ภาพ: ESA / NASA / Hubble

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X