ไทยเป็นเจ้าของ โบราณวัตถุ อันล้ำค่ามากมายหลายชิ้น แต่ถ้าอยากดูผลงานเหล่านั้น เราอาจต้องบินไปดูที่พิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ
โบราณวัตถุของไทยเหล่านี้หายไปตั้งแต่เมื่อไร ทำไมการทวงคืนแต่ละชิ้นถึงใช้เวลานาน และการทวงคืนโบราณวัตถุที่ผ่านมามีหลุมพรางอะไรที่อาจทำให้ไทยเสียประโยชน์
Golden Boy เศษเสี้ยวโบราณวัตถุที่หายไป
เมื่อไม่นานมานี้โบราณวัตถุที่เคยอยู่ในไทย แต่พลัดหายจากบ้านเกิดไปนานกว่า 50 ปี ถูกส่งกลับคืนมาให้อยู่ในความดูแลของไทยอีกครั้ง โบราณวัตถุชิ้นนี้เป็นที่รู้จักในชื่อว่า Golden Boy งานประติมากรรมชิ้นเยี่ยมระดับโลกที่หล่อด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งมีส่วนผสมหลักเป็นทองแดงและดีบุก เคลือบผิวด้วยกะไหล่ทองทั้งองค์ และปัจจุบันมีมูลค่าถึง 100 ล้านบาท
Golden Boy ถูกขุดพบครั้งแรกโดยชาวบ้านในจังหวัดบุรีรัมย์ด้วยความบังเอิญเมื่อช่วงปลายสงครามเวียดนาม ก่อนที่นายหน้าค้าโบราณวัตถุคนหนึ่งจะเข้ามาซื้อต่อในราคา 1 ล้านบาท
แต่ Golden Boy ไม่ได้เดินทางกลับมาไทยเพียงลำพัง แต่ยังมีโบราณวัตถุอีกหนึ่งชิ้นที่มาพร้อมกัน ชิ้นนั้นมีชื่อว่า ‘สตรีพนมมือ’ ประติมากรรมชิ้นงามที่ที่มายังคงเป็นปริศนา แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสตรีชั้นสูงในราชสำนัก สวมเครื่องประดับ กำลังนั่งชันเข่าแสดงความเคารพต่อเทพเจ้า
ก่อนหน้านี้ทั้ง Golden Boy และสตรีพนมมือ ถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน (Metropolitan Museum of Art หรือ The Met) ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา อยู่พักใหญ่ จนพิพิธภัณฑ์ The Met ส่งหนังสือถึงกรมศิลปากรว่าจะคืนโบราณวัตถุ 2 ชิ้นนี้กลับให้ไทย ดูเผินๆ อาจเป็นเรื่องน่ายินดีที่ไทยได้วัตถุทางวัฒนธรรมแสนล้ำค่า 2 ชิ้นนี้กลับคืนมา แต่นี่เป็นเพียงบางส่วนของโบราณวัตถุที่หายไปเท่านั้น
ในช่วงเวลาที่ Golden Boy ถูกลักลอบนำออกไป มีโบราณวัตถุอีกจำนวนมากในไทยและกัมพูชาที่หายไปพร้อมๆ กัน ขณะนั้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คุกรุ่นด้วยไฟแห่งสงคราม ทั้งสงครามเวียดนามและสงครามกลางเมืองในกัมพูชา
ระหว่างสงครามดำเนินไป โลกเองก็เริ่มรู้จักและสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โบราณวัตถุของภูมิภาคนี้จึงกลายเป็นที่ต้องตาต้องใจ ทั้งในหมู่ผู้ต้องการศึกษาอารยธรรมโบราณและในหมู่นักสะสม
ขบวนการค้าโบราณวัตถุจึงเริ่มก่อร่างสร้างตัว มีชาวต่างชาติเข้ามาในไทย ตั้งตนเป็นพ่อค้าคนกลาง คอยจัดหาโบราณวัตถุทั้งจากในไทยและฝั่งกัมพูชาให้กับผู้ซื้อกระเป๋าหนา ขณะที่ชาวบ้านเองก็หันมาลักลอบขุดหรือขโมยโบราณวัตถุมากขึ้นเพื่อขายให้พ่อค้าเหล่านี้
โบราณวัตถุถูกขนออกไปอย่างเงียบๆ รู้ตัวอีกทีก็กระจายไปจัดแสดงอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศแล้ว ชิ้นที่โด่งดังมากจนวงคาราบาวถึงขั้นแต่งเพลงถึงคือ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทหินพนมรุ้งที่เชื่อว่าหายไปช่วงประมาณปี 1960 ตอนแรกไม่มีใครรู้ว่าหายไปไหน จนกระทั่ง ศ. ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในขณะนั้น ไปพบว่าทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ถูกจัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก สหรัฐอเมริกา และภายหลังไทยก็ได้กลับคืนมาในปี 1988 ซึ่งกว่าจะได้คืนมาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
อีกชิ้นหนึ่งที่โด่งดังในหมู่นักโบราณคดีไม่แพ้กันก็คือ กลุ่มประติมากรรมสำริดประโคนชัยที่เก่าแก่กว่า 1,200 ปี ถูกนำออกไปจากปราสาทปลายบัด 2 จังหวัดบุรีรัมย์ โดย ม.จ.สุภัทรดิศ ได้บันทึกไว้ว่า ประติมากรรมชุดนี้หายไปจากไทยกว่า 300 องค์ และปัจจุบันก็ไม่มีอยู่ในไทยแม้แต่ชิ้นเดียว
ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี หนึ่งในคณะกรรมการทวงคืนโบราณวัตถุไทยในต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ไทยเปรียบเหมือนประเทศต้นทางในการค้าโบราณวัตถุ เพราะมีนายหน้าค้าโบราณวัตถุคนหนึ่งที่มาปักหลักตั้งสำนักงานอยู่แถวจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อจัดหาและลักลอบขนโบราณวัตถุออกนอกประเทศไทยอย่างจริงจัง
นายหน้าคนนี้เป็นคนเดียวกับที่ซื้อ Golden Boy จากชาวบ้าน, ประติมากรรมสำริดประโคนชัย รวมถึงโบราณวัตถุอีกหลายชิ้น ก็พบว่ามีความเชื่อมโยงกับเขา เขามีชื่อว่า ดักลาส แลตช์ฟอร์ด หรือ ภัคพงษ์ เกรียงศักดิ์
ผู้อยู่เบื้องหลังการค้าโบราณวัตถุ
ดักลาส แลตช์ฟอร์ด เป็นนักธุรกิจชาวอังกฤษ และเป็นอดีตนายกสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย รวมทั้งอีกบทบาทหนึ่งเขาก็เป็นนายหน้าค้าโบราณวัตถุที่เลื่องชื่อเกี่ยวกับศิลปะขอม
เดิมทีบทบาทนี้ของเขาเป็นที่รู้จักเฉพาะในหมู่ผู้ที่อยู่ในแวดวงงานศิลปะ ก่อนที่หนังสือ 3 เล่มเกี่ยวกับศิลปะขอมที่แลตช์ฟอร์ดร่วมเขียนด้วยจะสร้างความประหลาดใจ และเกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมโบราณวัตถุล้ำค่าของกัมพูชาที่ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน และผู้เชี่ยวชาญในกัมพูชาหลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีอยู่ ถึงมีภาพปรากฏอยู่ในหนังสือเหล่านี้
เรื่องการค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมายของแลตช์ฟอร์ดแดงขึ้นเมื่อปี 2011 ผู้เชี่ยวชาญได้เข้าไปตรวจสอบเทวรูปจากกัมพูชาที่กำลังจะจัดงานประมูลขึ้นในนิวยอร์ก และพบว่าเทวรูปชิ้นนี้มีที่มาไม่ชอบมาพากล โดยมีหลักฐานคือฐานเทวรูปที่ถูกตัดขาออกไป
ทางการสหรัฐฯ จึงเข้าไปสอบสวนอย่างจริงจัง โดยสอบสวนนานกว่า 8 ปีก็ได้ข้อสรุปว่า แลตช์ฟอร์ดอาจเกี่ยวข้องกับการค้าโบราณวัตถุที่ผิดกฎหมาย โดยซุกซ่อนรายได้มหาศาลจากธุรกิจนี้ไว้ในบริษัทนอกอาณาเขตที่ยากต่อการเข้าถึงข้อมูล
ในปี 2019 แลตช์ฟอร์ดถูกอัยการรัฐนิวยอร์กฟ้องข้อหาลักลอบนำเข้าและขายโบราณวัตถุล้ำค่าอย่างผิดกฎหมาย ที่ปรึกษากฎหมายของเขาออกมาบอกว่า แลตช์ฟอร์ดป่วยอยู่ในอาการโคม่า จึงไม่สามารถออกมาโต้แย้งข้อกล่าวหาได้ และปีต่อมาเขาก็เสียชีวิตลง คำฟ้องดังกล่าวจึงสิ้นสุดไป แต่ช่วงที่เขายังไม่ป่วยหนัก แลตช์ฟอร์ดเคยปฏิเสธผ่าน The New York Times ว่าตนเองไม่มีความเกี่ยวข้องกับโบราณวัตถุที่ถูกขโมยไป
แลตช์ฟอร์ดลักลอบค้าโบราณวัตถุจากกัมพูชาและไทยมามากกว่า 60 ปี หากถามว่าทางการไทยไม่รู้เรื่องนี้เลยหรือ ดร.ทนงศักดิ์ ให้ความเห็นว่า น่าจะรู้อยู่แล้ว แต่การที่เขายังสามารถทำอะไรได้อย่างอิสระ เพราะแลตช์ฟอร์ดมีอิทธิพลค่อนข้างมาก เขาสนิทกับผู้มีอำนาจในไทย และในยุคนั้นโบราณวัตถุถือเป็นของที่คนใหญ่คนโตเอาไว้แลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
“เราสังเกตได้เลยว่าการค้าโบราณวัตถุหรือการสับเปลี่ยนตำแหน่งสมัยก่อนใช้โบราณวัตถุแลกเปลี่ยน ไม่ได้ใช้ตั๋วช้างแบบปัจจุบัน ฉะนั้นแลตช์ฟอร์ดจึงมีอิทธิพลค่อนข้างสูง แล้วก็หาคนยุ่งกับเขาไม่ได้เลย”
หลังแลตช์ฟอร์ดเสียชีวิต แบรดลีย์ เจ. กอร์ดอน ที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทีมทวงคืนโบราณวัตถุ ได้เจรจากับลูกสาวของแลตช์ฟอร์ด ขอให้ส่งคืนสมบัติชาติของกัมพูชา พร้อมขอให้มอบข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของแลตช์ฟอร์ด ซึ่งเธอก็ยินดีมอบให้
กัมพูชาใช้ข้อมูลในอีเมลของแลตช์ฟอร์ด ทั้งข้อมูลทางการค้า การเจรจาซื้อขาย ไปจนถึงการปลอมหลักฐานการครอบครองเท็จ เป็นเครื่องมือสำหรับทวงคืนโบราณวัตถุชิ้นต่างๆ กลับคืนมา และข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทวงคืนโบราณวัตถุของไทยกลับมาเช่นเดียวกัน แต่ปัญหาคือไทยไม่มีข้อมูลนี้อยู่ในมือ
ไม่เพียงเท่านั้น แลตช์ฟอร์ดได้สะสมโบราณวัตถุที่สำคัญมากกว่า 100 ชิ้นไว้ในบ้านของเขาที่กรุงเทพฯ และลอนดอน ในจำนวนนี้อาจมีความเป็นไปได้ว่าจะมีโบราณวัตถุของไทยถูกเก็บอยู่ที่นั่นด้วย เป็นที่น่าตั้งคำถามว่า ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่เข้าไปเจรจากับลูกสาวของแลตช์ฟอร์ด เพื่อขอทั้งข้อมูลและขอตรวจสอบโบราณวัตถุที่อาจเป็นของไทย
ดร.ทนงศักดิ์ ยังบอกเพิ่มเติมว่า แท้จริงแล้ว Golden Boy ที่ไทยได้คืนมาก็อาจพูดได้ว่าเป็นเพราะอานิสงส์ของกัมพูชา เนื่องจากรัฐบาลกัมพูชาได้ทำเรื่องทวงคืนโบราณวัตถุที่สงสัยว่า The Met ได้มาจากแลตช์ฟอร์ดอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือ Golden Boy แต่กัมพูชาไม่แน่ใจเรื่องแหล่งที่มา จึงติดต่อกับทาง ดร.ทนงศักดิ์ ที่กำลังศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อยืนยันหาข้อสรุปว่า Golden Boy พบในไทย เมื่อหลักฐานชี้ชัดว่าเป็นของไทยแน่ กัมพูชาก็ยินดีจะช่วยทวงคืนให้ไปพร้อมกันเลย เพราะสามารถใช้ข้อมูลชุดเดียวกันยืนยันได้ว่า Golden Boy ออกจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ประกอบกับการทวงคืนโบราณวัตถุของกัมพูชามีการทำสารคดีเผยแพร่ไปทั่วโลกด้วย The Met จึงยินยอมส่งโบราณวัตถุในลิสต์ถึง 16 ชิ้นคืนให้กัมพูชาและไทยแต่โดยดี
Golden Boy และสตรีพนมมือที่ไทยได้คืนมาจึงเป็นการได้มาแบบส้มหล่น เพราะไทยยังไม่ได้เริ่มทำเรื่องตามกระบวนการทวงคืนโบราณวัตถุเลย
ไทยทวงคืนโบราณวัตถุแบบไหน
ไทยเพิ่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศเมื่อปี 2017 โดยอยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม แต่ก่อนหน้านั้นทางรัฐไม่ได้ขยับในเรื่องนี้มากเท่าไร ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักวิชาการและนักโบราณคดีที่รวมตัวกันเอง เพื่อหาทางทวงคืนเอาสมบัติของชาติกลับคืนมา เช่น กลุ่มสำนึก 300 องค์ ที่ตั้งขึ้นเพื่อทวงคืนโบราณวัตถุของไทยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประติมากรรมสำริดประโคนชัยที่หายออกไปกว่า 300 องค์
การทวงคืนโบราณวัตถุในปัจจุบันถือว่าง่ายกว่าแต่ก่อนมาก เพราะตอนนี้สหรัฐฯ เริ่มจริงจังกับการติดตามโบราณวัตถุที่ผิดกฎหมาย เพื่อปราบปรามการฟอกเงินหรือเลี่ยงภาษีผ่านการบริจาคโบราณวัตถุ
ถ้าไทยหรือประเทศไหนจะทวงคืนโบราณวัตถุ ตามลำดับขั้นตอนจะต้องส่งหนังสือไปยังสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา หรือ Homeland Security Investigations: HSI พร้อมแนบข้อมูลการศึกษาทางวิชาการหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยืนยันว่าโบราณวัตถุชิ้นนั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศจริง และถูกลักลอบนำออกไปโดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย HSI ก็จะดำเนินการสืบสวนเรื่องนี้กับพิพิธภัณฑ์คู่กรณี และดำเนินการตามกระบวนการต่างๆ ทางกฎหมาย เพื่อนำโบราณวัตถุกลับมาให้ประเทศต้นทาง
จนถึงวันนี้คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยได้ส่งหนังสือทวงคืนโบราณวัตถุไปแล้ว 2 ฉบับ ฉบับแรกทวงคืนทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังปราสาทเขาโล้น โดยได้กลับคืนมาเรียบร้อย
ส่วนหนังสือทวงคืนฉบับที่ 2 มีทั้งหมด 32 รายการ จาก 7 พิพิธภัณฑ์ในสหรัฐฯ ในจำนวนนี้มีประติมากรรมสำริดกรุประโคนชัยที่เป็นหัวใจหลักของการทวงคืนอยู่ 18 รายการ ซึ่งสถานะตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของศาล
กัมพูชาที่โบราณวัตถุหายไปในรูปแบบเดียวกับไทย ประสบความสำเร็จไม่น้อยในการทวงสมบัติของชาติกลับคืนมา
อ.ทนงศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า กัมพูชาตั้งทีมกฎหมายดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ รวบรวมหลักฐานจากหนังสือที่แลตช์ฟอร์ดเขียน พร้อมทั้งเอาคนที่เคยขุดมาเป็นพยานยืนยันอีกชั้นว่าเจอที่ไหน จากนั้นจะส่งทนายเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์ที่ครอบครองโบราณวัตถุอยู่ เพื่อชี้ว่าชิ้นไหนเป็นของที่ซื้อมาอย่างผิดกฎหมายบ้าง และอัยการรัฐสามารถฟ้องได้เลย ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการสืบสวนก่อน
ขณะที่ไทยเป็นการทวงคืนแบบรัฐต่อรัฐ คือส่งข้อมูลที่พิสูจน์ได้ว่าโบราณวัตถุเป็นของประเทศไทยผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และจึงส่งไปยัง HSI ซึ่งข้อจำกัดคือ เจ้าหน้าที่ HSI ก็ต้องใช้เวลาในการสืบสวน
“ของประเทศไทยกว่าจะพิสูจน์หลักฐานได้ว่ามันพบอยู่ในประเทศไทย กว่าจะสรุปให้กรรมการชุดใหญ่ กว่าจะทำหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ กงสุลไทยในสหรัฐฯ ส่งไปยัง Homeland (Homeland Security Investigations) เจ้าหน้าที่สืบสวนของเขา ขณะเดียวกันเราเน้นมาตลอดว่าการทวงโบราณวัตถุเป็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ เมื่อพิสูจน์ได้ว่ามันเป็นของผิดกฎหมาย แต่เราก็ยังเกรงใจพิพิธภัณฑ์เอกชนอยู่ ทั้งๆ ที่เขาขโมยโบราณวัตถุของประเทศไป ยังสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐต่อรัฐอยู่เลย” ดร.ทนงศักดิ์ กล่าว
อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการทวงคืนคือ ชาวบ้านในละแวกนั้นที่เป็นพยานปากสำคัญสำหรับช่วยยืนยันว่าโบราณวัตถุชิ้นต่างๆ มีความเป็นมาอย่างไร เป็นของไทยจริงหรือไม่ แต่ชาวบ้านกลัวว่าหากตัวเองให้ข้อมูลไปอาจเข้าข่ายว่ามีความผิด ทั้งที่ความจริงแล้วการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับราชการเกี่ยวกับโบราณวัตถุที่ถูกขโมยไปกว่า 30 ปีนั้นไม่ได้มีความผิดแต่อย่างใด
ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์ของกัมพูชาระบุว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2017-2021 กัมพูชาได้โบราณวัตถุกลับคืนมากว่า 258 ชิ้น ดังนั้นถ้าเทียบกับกัมพูชา ไทยทวงคืนโบราณวัตถุกลับมาได้น้อยมาก
จับตาทวงคืนโบราณวัตถุไทย
ปัจจุบันยังมีโบราณวัตถุที่อยู่ระหว่างการทวงคืน 32 รายการ และกำลังอยู่ในชั้นศาล แต่ระหว่างการทวงคืนไทยอาจเจอกับหลุมพรางบางอย่างที่อาจส่งผลให้ไม่ได้โบราณวัตถุกลับคืนมา หลุมพรางนั้นอาจอยู่ในลักษณะพิพิธภัณฑ์ที่ครอบครองโบราณวัตถุจะล็อบบี้ประเทศเจ้าของ พยายามขอเจรจาต่อรองเพื่อไม่ส่งคืนโบราณวัตถุให้
ดร.ดำรง ลีนานุรักษ์ หนึ่งในกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ยกตัวอย่างทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังปราสาทเขาโล้น ซึ่งตอนนั้นจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Chong-Moon Lee ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
แม้ในที่สุดไทยจะได้กลับคืนมา แต่เบื้องหลังพิพิธภัณฑ์ Chong-Moon Lee มีการติดต่อขอเจรจากับกรมศิลปากร อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล และก่อนหน้านั้น HSI ก็เคยเตือนไทยว่าอย่าเจรจากับพิพิธภัณฑ์โดยตรง เพราะหน้าที่ของ HSI คือเป็นตัวแทนรัฐบาลในการนำโบราณวัตถุที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเป็นของประเทศนั้นขึ้นสู่กระบวนการทางศาล พิพิธภัณฑ์จึงต้องเจรจากับ HSI เท่านั้น หากข้ามไปเจรจากับประเทศที่ตัวเองมีประเด็นด้วย มันจะเหมือนจำเลยขอประนอมความกับโจทก์โดยไม่ผ่านหรือไม่ให้ทนายรู้
สุดท้ายไทยจึงไม่ยอมเจรจากับพิพิธภัณฑ์ Chong-Moon Lee เมื่อ HSI ทราบเรื่องว่ามีความพยายามล็อบบี้เกิดขึ้น HSI จึงใช้หมายศาลยึดทับหลังทั้งสองชิ้นจากพิพิธภัณฑ์ Chong-Moon Lee และส่งคืนไทยทันที
ไม่ใช่แค่กรณีของไทย ตุรกีก็เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน ซึ่งเกิดกับ Lydian Hoard ชุดโบราณวัตถุเก่าแก่อายุมากกว่า 600 ปีก่อนคริสตกาล ที่ถูกลักลอบขุดออกไปจากตุรกีช่วงปี 1960 และ The Met ซื้อบางส่วนไปจัดแสดง ต่อมารัฐบาลตุรกีเรียกร้องให้ The Met ส่งกลับคืนมา แต่ The Met ปฏิเสธ เรื่องลุกลามจนต้องฟ้องร้องกัน
“ทาง The Met เขาก็พยายามล็อบบี้กับทนาย ครั้งแรกล็อบบี้กับทนายก่อน เพื่อให้ทนายไปเจรจากับรัฐบาลตุรกีว่าเขาจะขอยอมความที่จะยอมรับว่าของทั้งหมดเป็นของตุรกี แต่ขอให้อยู่จัดแสดงที่ The Met แล้วสัก 5 ปีก็สลับไปตุรกี 5 ปี สลับไปสลับมา สุดท้ายก็แพ้ความในขั้นตอนของศาลคือต้องยอมความเพื่อคืนของให้ทั้งหมด เพื่อที่จะไม่ถูกเอาผิดตามกฎหมาย National Stolen Property Act สุดท้ายรัฐบาลตุรกีก็ได้คืนของทั้งหมด เพราะเขาแข็งที่จะไม่ยอมเจรจา” ดร.ดำรง ให้ข้อมูล
เมื่อพูดถึงการทวงคืนโบราณวัตถุ การล็อบบี้ของพิพิธภัณฑ์จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรต้องจับตาด้วย เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันยังมีโบราณวัตถุไทยอีกหลายชิ้นที่รอการทวงคืนอยู่ ในตอนที่ The Met บอกว่าจะส่ง Golden Boy กลับมาให้ไทย กรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่บินไปสหรัฐฯ เพื่อตรวจสภาพโบราณวัตถุ พร้อมทั้งเซ็น MOU ร่วมกันด้วย
ดร.ดำรง ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมไทยต้องบินไปตรวจสอบโบราณวัตถุทั้งที่ไม่มีความจำเป็น อีกทั้งการไปในครั้งนั้นไทยได้เซ็น MOU กับ The Met โดยใน MOU มีความตกลงข้อหนึ่งระบุว่า “ข้อพิพาทใดๆ ระหว่างทั้งสองฝ่ายที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับบันทึกความเข้าใจนี้จะได้รับการตัดสินอย่างเป็นมิตรผ่านการหารือ การปรึกษาหารือ หรือการเจรจาด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน โดยไม่ต้องอ้างอิงถึงบุคคลที่สาม ศาลยุติธรรม หรือศาลระหว่างประเทศ” ซึ่งอาจส่งผลต่อการทวงคืนโบราณวัตถุได้
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมศิลปากรให้สัมภาษณ์ว่า MOU เป็นเพียงข้อตกลงทางวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญในงานจัดแสดงศิลปวัตถุ ซึ่งเอื้อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกัน ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า การเซ็น MOU ระหว่าง The Met กับกรมศิลปากร จะมีผลทางกฎหมายหรือไม่นั้น อย่างแรกต้องดูที่เนื้อหาว่าเขียนอย่างไร
อย่างที่สองคือสถานที่ที่ได้ลงนาม ในกรณีนี้ MOU ถูกทำในสหรัฐฯ จึงต้องไปดูว่ากฎหมายสหรัฐฯ ให้มีผลหรือมีข้อผูกพันทางกฎหมายอย่างไร ซึ่งโดยรวมการทำ MOU ในครั้งนี้ไทยได้ประโยชน์ในแง่ว่าได้รับโบราณวัตถุ 2 ชิ้นกลับมา แต่อีกแง่หนึ่งก็ขาดความชัดเจนตรงเนื้อหาที่กล่าวว่าไม่อ้างอิงถึงบุคคลที่สาม
ซึ่งอาจเป็นการกีดกันภาคส่วนอื่นๆ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม คณะรัฐมนตรี และ HSI ให้ไม่สามารถเข้าไปยุ่งได้ ดังนั้นถ้ากรมศิลปากรเจรจาไม่รู้เรื่องก็สามารถเสียประโยชน์ได้เลย ขณะเดียวกันถ้า The Met เจรจาไม่รู้เรื่องเขาก็เสียประโยชน์ทั้งหมดเหมือนกัน
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ล่าสุดสถาบันศิลปะชิคาโกเพิ่งแจ้งส่งคืนเสาติดผนังรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะกลับคืนสู่ประเทศไทย โบราณวัตถุชิ้นนี้มีอายุกว่า 900 ปี เคยอยู่ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง และเชื่อว่าถูกลักลอบนำออกไปเมื่อปี 1965
สถาบันศิลปะชิคาโกเป็นสถาบันเดียวกันกับที่เคยครอบครองทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งกว่าไทยจะได้คืนมานั้น ชาวไทยในสหรัฐฯ ต้องถึงขั้นเดินขบวนกดดันที่หน้าพิพิธภัณฑ์ และมีการตั้งเงื่อนไขว่าต้องเอาโบราณวัตถุชิ้นที่มีมูลค่าเท่ากันไปแลก
เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตจะเห็นว่าโบราณวัตถุแต่ละชิ้นกว่าจะได้กลับคืนมานับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดังนั้นการที่สถาบันศิลปะชิคาโกแจ้งว่าจะส่งคืนให้ก่อนที่ไทยจะทวงคืนด้วยซ้ำ ในแง่หนึ่งก็อาจสะท้อนว่าพิพิธภัณฑ์มีความตั้งใจที่ดีจริงๆ แต่อีกแง่หนึ่งก็มองได้เช่นกันว่าอาจเป็นการกู้ภาพลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ หรือเลี่ยงการต้องเข้าสู่กระบวนการทางชั้นศาล กรณีประเทศต้นทางแจ้งหนังสือทวงคืนกับ HSI
แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีโบราณวัตถุสำคัญของไทยอีกหลายชิ้นที่ยังคงจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ จึงต้องจับตาดูไปพร้อมๆ กันว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับการทวงคืนมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และจะมีพิพิธภัณฑ์ไหนอีกที่จะลุกขึ้นมาส่งคืนให้ไทยด้วยความเต็มใจ