×

สหภาพการบินไทยจี้ลดตำแหน่ง EVP-VP ตัดค่าน้ำมันกับรายจ่ายอื่นๆ หลังเจอวิกฤตโควิด-19

18.03.2020
  • LOADING...

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 5 เรื่อง ขอให้ยกเลิก ปรับลดบางตำแหน่ง และตัดค่าใช้จ่ายของฝ่ายบริหาร ท่ามกลางปัญหาขาดสภาพคล่องจากวิกฤตโควิด-19

 

แถลงการณ์ที่ลงนามโดย นเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ลงวันที่ 17 มีนาคม 2563 ระบุว่าจากการที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 

 

เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้บริษัทฯ ในภาวะวิกฤตขณะนี้ สหภาพแรงงานฯ จะทำเรื่องถึงคณะกรรมการบริษัทฯ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ครน.) ให้พิจารณาออกคำสั่งยกเลิกตำแหน่ง EVP สรรหา (Executive Vice President หรือรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่) 

 

ตลอดจนปรับลดจำนวน EVP และ VP (Vice President หรือผู้อำนวยการใหญ่) ของบริษัท ซึ่งมีจำนวนมากเกินความจำเป็น นอกจากนี้จะขอให้ผู้มีอำนาจสั่งการพิจารณาตัดค่าน้ำมันและรายจ่ายอื่นๆ ของ EVP และ VP 

 

การบินไทยเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังลุกลามอย่างหนัก ก่อนหน้านี้ในตอนที่แถลงผลประกอบการประจำปี 2562 สุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว และจะมีผลในวันที่ 11 เมษายน ระบุว่า 

 

สถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ทำให้ผู้โดยสารสายเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญหดหายไปกว่า 30% โดยเฉพาะคนจีนที่หายไปหลักล้านคน ในขณะที่ยุโรปลดลงไป 5% หนักสุดเป็นอิตาลี โดยการบินไทยมีการปรับลดเที่ยวบินในภาพรวมลง 10-12% เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์

 

สำหรับในเดือนมีนาคม คาดว่าจะปรับลดเที่ยวบินลง 20% โดยประเมินจากจำนวนผู้ที่จองตั๋วเข้ามา ขณะเดียวกันการจะอยู่รอดในภาวะวิกฤตเช่นนี้ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการ ‘ยืดเงินสดออกไปให้ได้ไกลมากที่สุด’ มาตรการรัดเข็มขัดจึงเกิดขึ้นดังที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ ทั้งปรับลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงลง 15-25% และปรับลดค่าพาหนะลง 20-30% คณะกรรมการบริษัทลดค่าตอบแทนลง 50%  

 

รวมไปถึงลดและชะลอการลงทุนที่ไม่จำเป็น ปรับลดงบประมาณสำหรับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ บริหารการจัดกำลังพลเพื่อไม่ให้เกิดการทำงานล่วงเวลา และปรับลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานภายนอก ฯลฯ

 

สำหรับผลประกอบการในปี 2562 ขาดทุน 12,017 ล้านบาท จากรายได้รวม 184,046 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 15,454 ล้านบาท หรือ 7.7% สำหรับปี 2563 ยังไม่ได้ประเมินว่าจะเป็นอย่างไร เพราะสถานการณ์การระบาดยังไม่สิ้นสุด 

 

อ้างอิง: TG UNION / Facebook

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising