ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการรับฟังการแถลงผลงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภารกิจในช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้หารือร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องการพำนักระยะยาว หรือ Long-Term Resident ในประเทศไทย ของผู้ที่ต้องการเดินทางเข้ามาประเทศไทยหรือลงทุนในประเทศหลังรัฐบาลเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งต้องมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน รวมถึงการที่จะมีเม็ดเงินที่จะเข้ามาในประเทศด้วย
นอกจากนี้ ยังได้รับฟังความก้าวหน้าเกี่ยวกับการบริหารแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ที่เริ่มดีขึ้น เนื่องจากมีการปรับลดค่าใช้จ่ายรายเดือนลงควบคู่กับการปรับลดคนให้สอดคล้องกับหน้าที่และความจำเป็น ส่งผลให้ขณะนี้มีเงินหมุนเวียนพอสมควร โดยนายกรัฐมนตรียังยืนยันว่าการบินไทยยังเป็นสายการบินแห่งชาติของไทยตลอดไป
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 บมจ.การบินไทย หรือ THAI ได้แถลงข่าวความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย โดย ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI และ ธีรัชย์ อัตนวานิช ประธานคณะกรรมการเจ้าหนี้ THAI พร้อมทั้งคณะกรรมการผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ได้ร่วมกันให้ข้อมูล
โดยปิยสวัสดิ์กล่าวว่า ในภาพรวมระยะเวลากว่า 1 ปี THAI มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ มีการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร และเพิ่มการหารายได้ กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจใหม่ ได้แก่ สายการบินคุณภาพสูงที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีพันธกิจ 4 ด้าน คือ
- สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า
- ความเป็นเลิศด้านการพาณิชย์
- ต้นทุนที่แข่งขันได้
- ผู้นำด้านปฏิบัติการบิน
และได้ดำเนินโครงการปฏิรูปธุรกิจ (Transformation Initiatives) ที่พัฒนาจากการระดมสมองของพนักงานทุกระดับกว่า 400 โครงการ ซึ่งส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นมูลค่า 44,800 ล้านบาทต่อปี เปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตที่ใกล้เคียงกับปี 2562 ค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าวคิดเป็น 77% ของเป้าหมายที่กำหนดไว้
ในแผนปฏิรูปธุรกิจมีโครงการสำคัญๆ ครอบคลุมด้านต่างๆ และส่งผลให้ปรับลดต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น
- ด้านบุคลากร 16,000 ล้านบาท
- ด้านประสิทธิภาพฝูงบินและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 12,000 ล้านบาท
- การเจรจาปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ 11,300 ล้านบาท
- ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง 1,100 ล้านบาท
- ด้านการปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติการบิน 719 ล้านบาท
- ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพฝ่ายช่าง 802 ล้านบาท
- ด้านอื่นๆ 3,200 ล้านบาท
โดย THAI ได้รับความร่วมมือจากพนักงานทุกระดับเป็นอย่างดีในการสมัครใจเข้าร่วมรับการกลั่นกรองในโครงการปรับโครงสร้าง ลดขนาดองค์กร ปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างและโครงสร้างค่าตอบแทนบุคลากร โครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน (Leave Without Pay) รวมถึงโครงการร่วมใจจากองค์กร (Mutual Separation Plan) ซึ่งมีพนักงานที่เสียสละเข้าร่วมโครงการรวมกว่า 6,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2562 มีจำนวนบุคลากรรวมแรงงานภายนอกจำนวน 29,500 คน ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานทั้งสิ้น 14,900 คน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลงจากเดือนละกว่า 2,600 ล้านบาทต่อเดือน เหลือกว่า 600 ล้านบาทต่อเดือน จำนวนผู้บริหารทุกระดับลดลงในสัดส่วน 35% ส่งผลให้ประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการทำงานสูงขึ้น
จากจำนวนพนักงานที่ลดลง ทำให้บริษัทสามารถกระชับพื้นที่ทำงานในส่วนของสำนักงานใหญ่และพื้นที่สำนักงานสาขาในต่างจังหวัด สามารถนำพื้นที่ว่างและไม่ได้ใช้งานมาหาประโยชน์ในการสร้างรายได้และเสริมสภาพคล่อง ทั้งโดยการให้เช่าและจำหน่าย อาทิ การให้เช่าอาคารสำนักงานใหญ่ การจำหน่ายอาคารและที่ดินสำนักงานหลักสี่ หลานหลวง ภูเก็ต และที่ดินเปล่าในจังหวัดเชียงใหม่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP