เรื่องของการฟื้นฟูการบินไทยกำลังเป็นประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นและความจำเป็นในการอุ้มธุรกิจสายการบินแห่งชาติ
แหล่งข่าวที่อยู่ในแวดวงการบินให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า หากการบินไทยต้องการกลับมามีกำไรต้องจัดการ 2 เรื่องหลักให้ได้ เรื่องแรกคือลดคนที่มีอยู่ราว 20,000 คน เพราะเมื่อเทียบกับสายการบินในต่างประเทศจะพบว่ารายได้ต่อพนักงานมากกว่าการบินไทยถึง 5 เท่า
เรื่องที่สองคือการใช้งานเครื่องให้เหมาะสมกับเส้นทาง เพราะที่ผ่านมาแม้บางเส้นทางขาดทุน แต่ยังมีการบินตามปกติ เช่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่ใช้เครื่องใหญ่ทำการบิน ซึ่งเฉพาะเส้นทางนี้ขาดทุนปีละกว่า 3,000 ล้านบาท ทางออกจึงต้องขายเครื่องบินบางลำและเปลี่ยนเครื่องใหม่มาทำแทน
เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้การบินไทยขาดทุนทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่เมื่อเทียบกับสายการบินในยุโรป จุดคุ้มทุนอยู่ที่การมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร 62-64% แต่ปีที่ผ่านมาการบินไทยมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร 79.1% จึงควรมีกำไรได้แล้ว ที่ระบุว่าขาดทุนจากน้ำมันและค่าเงิน ประเทศอื่นๆ ก็กระทบ แต่ทำไมจึงมีกำไร
สำหรับแผนฟื้นฟู สิ่งที่น่ากังวลคือการทำแผนใน 3 รอบก่อนเป็นช่วงที่รัฐบาลยังพอมีเงิน สามารถอุ้มได้ แต่ในครั้งนี้รัฐบาลไม่มีเงิน ล่าสุดมีข่าวว่าจะกู้เงิน 8 หมื่นล้านบาท โดยมีรัฐบาลมาค้ำประกันและให้รัฐวิสาหกิจส่วนอื่นๆ เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารออมสิน และกองทุนวายุภักษ์ เข้ามาซื้อหุ้น
อีกทั้งยังต้องใช้เงินอีก 3-5 หมื่นล้านบาทเข้ามาใช้พยุงและปรับโครงสร้างธุรกิจรวมแล้วนับแสนล้านบาท เงินก้อนนี้ก็เป็นเงินจากรัฐวิสาหกิจที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนของท่าอากาศยานไทยถึงความจำเป็นในการนำเงินมาอุ้มธุรกิจที่กำลังวิกฤต
“ธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่แข่งขันกันรุนแรง มีองค์ประกอบหลายอย่างที่จะทำให้ธุรกิจไปต่อได้ การบริการดีเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ส่วนตัวมองว่าการทำแผนฟื้นฟูในรอบนี้เสี่ยงเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากปัญหาภายในแล้วยังมาเจอผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งหนักหนาเป็นอย่างมาก”
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์