×

ถาวร หารือแผนซื้อเครื่องบิน 38 ลำของการบินไทย เร่งเพิ่มรายได้เน้นขายตั๋วออนไลน์ ปรับไทยสมายล์เป็นโลว์คอสต์เต็มตัว

07.08.2019
  • LOADING...
การบินไทย

วันนี้ (7 ส.ค. 2562) ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เชิญสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาด้านการบิน มาหารือเกี่ยวกับแผนการจัดซื้อเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำนวน 38 ลำ ในวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ แผนดังกล่าวของการบินไทยถือว่าอยู่ในกรอบการจัดหาเครื่องบิน 75 ลำ ที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติเห็นชอบเมื่อปี 2554 โดยการจัดหาเครื่องบินจะคำนึงถึงปัจจัย 2 ด้านคือ ด้านการเงิน และด้านการตลาดเป็นหลัก

 

ซึ่งประเด็นนี้จะช่วยให้สายการบินไทยมีศักยภาพที่ดีขึ้น และสามารถแข่งขันธุรกิจการบินในระดับโลกได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้บอร์ดการบินไทยจะต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของบอร์ดการบินไทยอีกครั้ง ก่อนเสนอให้กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบได้เร็วที่สุด โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ 

 

นอกจากนี้ ฝ่ายที่ปรึกษาของ รมช.คมนาคม ยังมีข้อเสนอแนะเรื่องเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 ที่จอดอยู่ 5 ลำว่า การบินไทยควรนำมาปรับปรุงใหม่ และใช้บินในเส้นทางยุโรประยะเวลาประมาณ 10 ชั่วโมงแทนการจำหน่ายออก ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้และความคุ้มค่ามากกว่า

 

นอกจากนี้ ถาวร เสนเนียม ยังได้สั่งการให้ไปเร่งหาแนวทางเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายบัตรโดยสาร ด้วยการจำหน่ายบัตรโดยสารผ่านระบบออนไลน์ให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันการบินไทยจำหน่ายบัตรโดยสารผ่านระบบตัวแทนจำหน่าย (Agency) ถึง 75% และในส่วนของออนไลน์อีก 25% แต่ในปัจจุบันยังพบว่า ตัวแทนจำหน่ายส่วนใหญ่จำหน่ายบัตรไม่หมดและส่งคืนกลับมา ทำให้การบินไทยเสียโอกาสหารายได้เพิ่ม และต้องแบกรับภาระส่วนนี้ ดังนั้น การบินไทยต้องกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการประเมินผลงาน (KPI) ว่าหากตัวแทนจำหน่ายขายไม่หมดในกรอบระยะเวลา ต้องมีมาตรการต่างๆ รองรับ เช่น ขึ้นแบล็กสิสต์ลดจำนวนการจัดสรรที่นั่ง เสียค่าปรับ และตัดสิทธิ์การจำหน่าย ตามลำดับ

 

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ขอให้ทบทวนจุดยืนของสายการบินไทยสมายล์ให้ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันมีสถานะขาดทุน แม้จะมีสถานะเป็นสายการบิน Premium Low Cost ซึ่งต้องย้อนกลับมาดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร พร้อมมองว่าสายการบินไทยสมายล์ควรจะวางตำแหน่งทางการตลาดให้เป็นสายการบินโลว์คอสต์อย่างชัดเจน 

 

ซึ่งการปรับเป็นโลว์คอสต์ สามารถทำได้เพียงแค่ลดบริการลงบางส่วนให้สอดคล้องกับราคาบัตรโดยสารโลว์คอสต์ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นทางเลือกที่ดีให้ผู้โดยสารหันมาใช้บริการมากขึ้น ส่วนบริการที่หายไปไม่น่าจะเป็นปัญหา เนื่องจากผู้โดยสารที่บินในช่วงเวลา 1 ชั่วโมงเศษ ไม่ได้ต้องการบริการอะไรที่พิเศษมากมาย แต่ถ้าหากยังมีความต้องการให้เป็นสายการบินแบบพรีเมียมโลว์คอสต์ต่อไป ทางสายการบินต้องมองรูปแบบของการตลาดให้ออกเพื่อสร้างกำไรได้

 

ภาพ: Facebook – ถาวร เสนเนียม

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X