×

‘การบินไทย’ หวังเม็ดเงินใหม่ 5 หมื่นล้าน ใช้ดำเนินกิจการตามแผนฟื้นฟูระยะแรก พร้อมรุดถกเจ้าหนี้ขอแฮร์คัต 70%

02.03.2021
  • LOADING...
การบินไทย-หวังเม็ดเงินใหม่-5-หมื่นล้าน

ในวันนี้ (2 มีนาคม)​ เป็นวันที่ บมจ. การบินไทย (THAI) ต้องส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดย กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังศาลล้มละลายกลางพิจารณาแผนในวันที่ 2 มีนาคมนี้แล้ว การบินไทยมีเวลาอีก 2 เดือน หรือประมาณ 60 วันที่จะพิจารณาปรับปรุงแผนอีกรอบ 

 

อย่างไรก็ตาม หลังแผนฟื้นฟูได้รับอนุมัติแล้ว สถานะของการบินไทยก็คงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจอีกต่อไป เพราะก่อนเข้าฟื้นฟูกระทรวงการคลังถือหุ้นในสัดส่วนที่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว โดยคาดว่าการบินไทยต้องการเม็ดเงินทุนใหม่ประมาณ 50,000 ล้านบาทเพื่อใช้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูระยะแรก ซึ่งประเด็นสำคัญตามแผนฟื้นฟูนั้น การบินไทยต้องมีแหล่งเงินใหม่ใส่เงินเข้ามา 

 

กฤษฎา กล่าวว่า หลังจากคณะผู้ทำแผนเดินสายเจรจากับทางเจ้าหนี้รายใหญ่ ทั้งในส่วนของเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้สหกรณ์ (หู้นกู้) รวมถึงกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ยังมีหลายประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้

 

“แผนฟื้นฟูที่คณะผู้ทำแผนที่นำไปเจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่นอกรอบมีสาระหลักคือ ขอลดมูลค่าหนี้คงค้าง (แฮร์คัต) ลง 70% ซึ่งเสียงของเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและรับไม่ได้ ทำให้ล่าสุดมีธนาคารเจ้าหนี้แห่งหนึ่งทำแผนเสนอเข้ามาเพื่อให้คณะผู้ทำแผนพิจารณา”

 

ด้านแหล่งข่าวจากการะทรวงการคลังกล่าวว่า ในส่วนเจ้าหนี้สถาบันการเงินอย่างธนาคารกรุงเทพและธนาคารกรุงไทย ได้เสนอให้แฮร์คัตหนี้ไม่เกิน 50% ส่วนที่เหลือก็เสนอให้มีการแปลงหนี้เป็นทุน ขณะที่วงเงินสินเชื่อใหม่เพื่อเสริมสภาพคล่องให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการนั้นยังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรอง

 

อย่างไรก็ตาม แผนฟื้นฟูการบินไทยขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน โดยล่าสุด 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การบินไทยมีการประชุมร่วมกับแบงก์เจ้าหนี้ และช่วงเย็น อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีการเรียกแบงก์เจ้าหนี้ อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น เข้าหารือถึงแนวทางการฟื้นฟูการบินไทยที่ทางผู้จัดทำแผนจะยื่นต่อศาลล้มละลายภายในวันที่ 2 มีนาคมนี้

 

โดยที่ผ่านมาผู้จัดทำแผนมีการเสนอให้เจ้าหนี้สถาบันการเงินแฮร์คัตหนี้ถึง 70% ขณะที่เจ้าหนี้หุ้นกู้กลุ่มสหกรณ์ที่มีสัดส่วนราว 40% ถือเป็นกลุ่มเจ้าหนี้สำคัญ เพราะสหกรณ์ลงมติให้ฝ่ายใด ฝ่ายนั้นก็จะชนะ และสหกรณ์ยืนยันไม่ยอมแฮร์คัต ขณะที่แบงก์เจ้าหนี้ที่เป็นเอกชนเสนอแนวทางให้แฮร์คัตไม่เกิน 50% รวมถึงต้องการให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุนในระดับที่อาจจะทำให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง หรือให้ภาครัฐถือหุ้นเกิน 50% ซึ่งประเด็นนี้จะนำไปสู่การกำหนดว่าเงินก้อนแรกที่จะเข้ามาเพิ่มทุน ตลอดจนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจะเป็นเท่าใด”

 

ทั้งนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ โดยชี้แจงว่ามีภาระหนี้ประมาณ 350,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลหนี้หุ้นกู้ทั้งหมดจำนวนประมาณ 74,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด ซึ่งสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 87 รายดังกล่าวมีมูลหนี้หุ้นกู้รวมกันประมาณ 46,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 62 ของหนี้หุ้นกู้ทั้งหมด

 

โอกาสของเศรษฐกิจโลกอยู่ตรงไหน ไทยตกขบวนการฟื้นตัวหรือไม่? บิตคอยน์คือ สินทรัพย์ทางเลือก หรือฟองสบู่ที่รอวันแตก? เราควรปรับพอร์ตอย่างไรเพื่อเติบโตท่ามกลางความตกต่ำ

 

ร่วมกันค้นหาคำตอบใน THE STANDARD WEALTH FORUM: Catch the Next Curve

 

สิทธิพิเศษ! ลงทะเบียนรับรหัสจำนวนจำกัด เพื่อเข้าชมถ่ายทอดสดได้ที่ thestandard.co/events

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X