แม่ทัพ ‘การบินไทย’ ไม่พลาดโอกาส เร่งสปีดธุรกิจ ขยายเส้นทางบินประเทศอินเดียเพิ่มเป็นเท่าตัว หวังรองรับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเดินทางเข้าไทยกว่า 6 แสนคน ส่วนสายการบินในประเทศจะมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นหลังควบรวมกับไทยสมายล์แล้วเสร็จ
Nikkei Asia รายงานคำพูดของ ชาย เอี่ยมศิริ ซีอีโอการบินไทย และผู้ที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการบินกว่า 40 ปี ว่า บริษัทต้องไม่รอช้าที่จะขยายเส้นทางบินใหม่ๆ ได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ และปากีสถาน เพื่อรองรับความต้องการตลาด เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถแข่งขันกับสายการบินระหว่างประเทศอื่นๆ ได้
แต่กว่าบริษัทจะได้รับอนุมัติจากรัฐบาลในการซื้อเครื่องบินใหม่อาจใช้เวลาถึง 6 เดือน ซึ่งถือว่าช้าในการแข่งขัน เพราะวันนี้กุญแจของการทำธุรกิจสายการบินคือความเร็วเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สำหรับเส้นทางใหม่จะมุ่งให้ความสำคัญกับประเทศอินเดีย บังคลาเทศ และปากีสถาน ซึ่งที่ผ่านมาเที่ยวบินของการบินไทยสามารถให้บริการได้เป็นอย่างดี ถ้าเทียบกับเที่ยวบินยุโรปและออสเตรเลียที่ยังต้องปรับปรุงการให้บริการอย่างต่อเนื่อง
ยิ่งไปกว่านั้นก็ถือเป็นการหาตลาดใหม่ๆ เพื่อทดแทนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมามากนักเมื่อเทียบกับก่อนโควิด ดังนั้น ตลาดอินเดียจึงมีโอกาสอย่างมาก เพราะเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจกับประเทศไทยมาโดยตลอด
โดยจากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย ในเดือนพฤษภาคม ปี 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเดินทางเข้ามาไทยประมาณ 6 แสนคน ขณะที่ในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาประมาณ 9.9 แสนคน
ขณะที่เที่ยวบินภายในประเทศก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน หลังจากที่บริษัทควบรวมกับไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มีเที่ยวบินภายในประเทศเป็นหลัก จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ และจากนี้จะช่วยให้การบินไทยรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ต้องการเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ หากย้อนไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การบินไทยต้องเผชิญปัญหาการขาดทุน โดยในช่วงปี 2563 การบินไทยได้ยื่นขอความคุ้มครองการล้มละลาย จากความล้มเหลวในการบริหารจัดการธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงโควิด จนกระทั่งในปี 2565 ได้ประกาศเป้าหมายทำตามแผนฟื้นฟูกิจการให้เสร็จสิ้นในปี 2567
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานประมาณ 10,000 คน ซึ่งถือว่าลดลงครึ่งหนึ่งถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนเครื่องบินเช่าเหลือ 65 ลํา ลดลงจากช่วงก่อนโควิดที่มีอยู่ 103 ลํา
อ้างอิง: