ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนการลงทุนในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่สนามบินอู่ตะเภา มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ว่า สาเหตุที่บริษัทฯ ตัดสินใจร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมือทางธุรกิจในโครงการ MRO ดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังนี้
- BA เป็นผู้ประกอบการสายการบินของไทย
- BA มีฝูงบินจำนวนมาก หากรวมกับของฝูงบินของการบินไทยที่มีแผนจะขยายฝูงบิน เพิ่มเป็นจำนวน 150 ลำในปี 2576 จะมีฝูงจำนวนรวมกันถึงประมาณ 200 ลำ
- BA ถือเป็นพันธมิตรของการบินไทยอยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมาในด้านอื่นๆ
สำหรับขั้นตอนลำดับถัดไปอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ EEC ซึ่งจะเป็นผู้ยื่นเรื่องต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาเพื่อขอความเห็นโดยก่อนหน้านี้การบินไทยได้แจ้งความจำนงต่อ EEC ไปแล้วว่ามีความสนใจและพร้อมที่เข้าไปลงทุนโครงการ MRO
ภาพ: ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
“การ MOU กับ BA ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมที่ลงทุน MRO ได้ หาก EEC จะมีการกำหนดเงื่อนไขเปิดให้ผู้สนใจเข้าไปประมูลทำโครงการ MRO ในพื้นที่ EEC การบินไทยก็ยืนยันว่าพร้อมที่เข้าร่วมประมูลแข่งขันในโครงการนี้ ส่วนจะเข้า ครม. เมื่อไรขึ้นอยู่กับ EEC แต่หากต้องการผลักดันให้เมืองการบินเกิดขึ้นได้ก็จำเป็นต้องมีโครงการ MRO ใน EEC” ชายกล่าว
สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการ MRO ของบริษัทฯ ร่วมกับ BA จะต้องมีการเจรจาในรายละเอียดอีกครั้ง โดยเบื้องต้นบริษัทฯ มีนโยบายที่ต้องการจะเป็นผู้ถือใหญ่ในโครงการนี้ โดยคาดว่าจะสามารถได้สรุปสัดส่วนการร่วมทุนถือหุ้นในโครงการนี้ภายในไตรมาส 2/68
โดยจากการศึกษาภายในของบริษัทฯ โครงการ MRO จะสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนการจากการลงทุนโครงการ (Project IRR) ในระดับไม่น้อยกว่า 10%
นอกจากนี้ประเมินว่าโครงการ MRO จะเป็นประโยชน์กับบริษัทฯ เพราะจะช่วยให้บริหารความเสี่ยงช่วยลดการพึ่งพา MOR จากภายนอกซึ่งปัจจุบันในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีบริการที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมการบิน และไม่ให้รายได้รั่วไหลออกไปยังต่างประเทศ
ทั้งนี้ ประเมินการร่วมทุนในการพัฒนาโครงการ MRO จะมีเพียงการบินไทยกับ BA เพราะมีความมั่นใจว่ามีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาโครงการนี้ได้ แต่ในลำดับถัดไปในอนาคตมีแผนตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาใหม่ โดยให้บริษัทร่วมทุน MRO เข้าไปร่วมถือหุ้นกับพาร์ตเนอร์รายอื่นๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาร่วมดำเนินการในกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้อง เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องบินหรือผู้ประกอบการพ่นทำสีเครื่องบิน โดยปัจจุบันมีการลิสต์รายชื่อพาร์ตเนอร์กลุ่มนี้ไว้มากกว่า 10 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ
อีกทั้งยืนยันว่าบริษัทฯ มีความพร้อมของแหล่งเงินทุนหลังจากบริษัทฯ ได้รับเงินจากการขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement: PP) มาประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยหากบริษัทฯ ได้รับอนุมัติเลือกให้ลงทุนโครงการ ก็มีโอกาสที่เริ่มการก่อสร้างได้ภายในปีนี้ และเบื้องต้นคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างโครงการประมาณไม่น้อยกว่า 3 ปี
ชายกล่าวต่อว่า ในส่วนประเด็นการเพื่อแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินส่งผลให้โครงการรถไฟฟ้าล่าช้า เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการพัฒนาโครงการ MRO เพราะเป็นโครงการที่ไม่ได้มีการพึ่งพาหรือเกี่ยวข้องกับจำนวนผู้โดยสารที่จะเข้ามาใช้บริการในทั้ง 3 สนามบิน