×
SCB Omnibus Fund 2024

‘หมดเวลาบินแบบขาดทุน!’ ผู้บริหาร การบินไทย ตั้งเป้ากลับสู่สายการบินท็อป 5 ของโลก พร้อมล้างภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ

12.09.2022
  • LOADING...
การบินไทย

หลังจากการเดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างจริงจัง พร้อมกับการทำแผนฟื้นฟู บมจ.การบินไทย (THAI) ดูเหมือนว่าจะเริ่มกลับเข้าสู่ที่ทางของตัวเองได้อีกครั้ง ล่าสุด เจ้าหนี้ของบริษัทในสัดส่วน 78% ได้ลงมติรับรองการปรับแผนฟื้นฟู ซึ่งเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกจากการที่บริษัทมีความต้องการใช้เงินทุนลดลงเหลือเพียง 2.5 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะต้องใช้เงินทุนถึง 5 หมื่นล้านบาท 

 

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย กล่าวว่า ตอนนี้ธุรกิจฟื้นแล้ว ต้องเดินต่อไป และใช้โอกาสจากการที่ประเทศต่างๆ เปิดมากขึ้น เพื่อเพิ่มเส้นทางการบิน เพิ่มผู้โดยสาร รักษาคุณภาพบริการ และดูแลต้นทุนให้ดี ให้มีกำไร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นแล้ว แต่ปัจจุบันปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ยังคิดเป็นเพียง 47% ของระดับปกติ ซึ่งในอดีตหากตัวเลขยังอยู่ในระดับนี้จะทำให้บริษัทขาดทุนอย่างแน่นอน แต่ด้วยการควบคุมค่าใช้จ่ายทำให้บริษัทเริ่มมีกำไรได้บ้าง 

 

หลังจากนี้บริษัทจะเดินหน้าตามแผนฟื้นฟู คือการแปลงหนี้เป็นทุน 2.5 หมื่นล้านบาท และเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมและผู้ถือหุ้นใหม่รวมกันอีก 2.5 หมื่นล้านบาท การแปลงหนี้เป็นทุนกำหนดราคาหุ้นไว้ที่ 2.54 บาท ส่วนการเพิ่มทุนอาจจะสูงกว่าเล็กน้อย ซึ่งก็มั่นใจว่าผู้ลงทุนจะให้ความสนใจ เพราะเป็นระดับราคาที่ต่ำกว่าราคาพาร์ของการบินไทยที่ 10 บาทค่อนข้างมาก  

 

“ตามแผนที่วางไว้บริษัทจะดำเนินการจัดโครงสร้างทุนเสร็จในปี 2567 และออกจากแผนฟื้นฟู ก่อนจะกลับเข้าสู่ตลาดได้ในปี 2568 แต่หากสถานการณ์เอื้ออำนวยเราก็อาจจะทำได้เร็วกว่านั้น”

 

ในปีนี้จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยของการบินไทยเพิ่มขึ้นมาเป็น 16,000 คนต่อวัน จากปีก่อนที่เพียง 500 คนต่อวัน และหากรวมไทยสมายล์ด้วย จำนวนผู้โดยสารจะแตะระดับ 30,000 คนต่อวัน 

 

ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทก็เริ่มพลิกกลับมาเป็นบวก โดยเฉพาะในเรื่องของกระแสเงินสดซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 5 พันล้านบาท มาเป็น 1.8 หมื่นล้านบาท จากการจำหน่ายตั๋วเป็นหลัก 

 

สำหรับปลายทางของการบินไทยโฉมใหม่จะแตกต่างกับการบินไทยในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะการหลุดออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากขึ้น 

 

“เราอยากจะกลับไปสู่ท็อป 5 ของสายการบิน ในแง่ของความพึงพอใจโดยรวมของผู้โดยสาร ซึ่งเราเคยทำได้มาก่อนแล้ว แต่ปัจจุบันเราหล่นมาอยู่ในอันดับที่ 23” 

 

หากบริษัทยังคงทำได้แบบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูได้สำเร็จ เชื่อว่าบริษัทจะกลับไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือต้นทุนที่ลดลง ทำให้สามารถแข่งขันได้แล้วในระดับโลก  

 

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการของบริษัท เปิดเผยว่า ความเสี่ยงธุรกิจการบินเยอะมาก และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ก็มีมากเช่นกัน การบินไทยเวลานี้ต้องเอาตัวรอดให้ได้ บางครั้งต้องพิจารณาว่าอย่าไปแข่งกับสายการบินที่ได้การอุดหนุนจากรัฐ เช่น สายการบินตะวันออกกลาง เพราะต้นทุนน้ำมันของเขาต่ำกว่ามาก 

 

“ปัญหาคือเราจะวางเส้นทางการบินอย่างไรที่แข่งขันได้ อย่ามองเรื่องราคาอย่างเดียว เราต้องไปในจุดที่เรามีกำไร เราไม่มีเวลาที่มาบินแล้วขาดทุนอีกแล้ว” 

 

สำหรับปลายทางของการบินไทยต้องไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่อาจจะมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ การเป็นรัฐวิสาหกิจทำให้กระบวนการตัดสินใจต่างๆ ล่าช้า ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรม บริษัทจะนำหลักการกำกับดูแลของมหาชนเข้ามา และการเป็นบริษัทมหาชนช่วยให้บริษัทสรรหาและแต่งตั้งผู้บริหารที่มีความสามารถได้อย่างเหมาะสม 

 

“ในอดีตการที่บริษัทจะสั่งซื้อเครื่องบินได้อาจต้องใช้เวลาถึง 3 ปี แต่ปัจจุบันสามารถสั่งซื้อได้ภายใน 4-6 เดือน” 

 

ด้าน สุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (รักษาการ) เปิดเผยว่า หลายประเทศกลับมาเปิดรับการเดินทางเต็มที่อีกครั้ง ตอนนี้ในเส้นทางการบินหลักของการบินไทย หากเป็นการบินตรงระยะไกลบริษัทกลับไปทำการบินทั้งหมดแล้ว โดยเฉพาะในโซนยุโรปซึ่ง Carbin Factor สูงถึงกว่า 90% โดยภาพรวมตอนนี้ทุกเส้นทางบินค่อนข้างดีมาก ยกเว้นเพียงญี่ปุ่นและจีนที่ยังค่อนข้างเข้มงวดเกี่ยวกับการเดินทาง 

 

ปัจจุบันการบินไทยมีเส้นทางบินราว 40 เส้นทางบิน จากในอดีตที่ประมาณ 55 เส้นทางบิน โดยเน้นทำการบินในเส้นทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะเดียวกันบริษัทยังได้เน้นการรับบริการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันรายได้จากการขนส่งสินค้าเพิ่มเข้ามาช่วยบริษัทถึงประมาณ 2 พันล้านบาทต่อเดือน 

 

“รายได้จาก Cargo ในปัจจุบันสูงกว่าช่วงเวลาก่อนโควิดถึง 1 เท่าตัว หลังจากที่บริษัทหันมาเน้นการให้บริการ Cargo มากขึ้น” 

 

ในแง่ของต้นทุนที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่จำนวนพนักงานลดลงจากเกือบ 30,000 คน เหลือ 14,000 คน แบ่งเป็นพนักงานการบินไทย 7,000-8,000 คน พนักงานไทยสมายล์ 800 คน ส่วนที่เหลือเป็นพนักงาน Outsource ด้วยบุคลากรที่ลดลง ทำให้ค่าใช้จ่ายของการบินไทยลดลงจากปีละกว่า 2 พันล้านบาท มาเหลือ 7-8 ร้อยล้านบาท 

 

ขณะที่จำนวนเครื่องบินที่เคยมีถึง 100 กว่าลำ แต่ไม่ได้ใช้ทำการบินไปกว่า 20 ลำ ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 61 ลำ และจะเพิ่มเป็น 66 ลำในสิ้นปีนี้

 

“ถ้าเรายังอุ้ยอ้ายเหมือนสมัยก่อน เป็นรัฐวิสาหกิจ ทำคิดแบบเดิม ผมว่าแผนฟื้นฟูคงจะต้องยาวนานกว่านี้มาก ปัจจุบันบริษัทมีโปรเจกต์เพื่อลดต้นทุนกว่า 400 โปรเจกต์ ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้กว่า 6 หมื่นล้านบาท”

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising