×

‘การบินไทย’ จ่อหลุดจากแผนฟื้นฟูใน 3Q67 นำหุ้นกลับเข้ามาเทรดปลายปี 67 เร็วกว่าแผน หลังมีกำไร 4 ไตรมาสติด-มีเงินสดพร้อมทยอยคืนหนี้

11.08.2023
  • LOADING...

บมจ.การบินไทย ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 2/66 ที่ 2,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171% ถือเป็นการทำกำไรติดต่อกัน 4 ไตรมาสติด คาดรายได้ครึ่งหลังปี 2566 ดีกว่าครึ่งแรก เหตุภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวดีต่อเนื่อง แถมมีฝูงบินใหม่เพิ่มอีก 6 ลำหนุนรายได้ทั้งปีนี้แตะ 1.6 แสนล้านบาท 

 

ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย หรือ THAI เปิดเผยว่า บริษัท การบินไทย มีโอกาสที่จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เร็วขึ้น 1 ไตรมาสจากแผนเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงไตรมาส 4/67 มาเป็นในไตรมาส 3/67 พร้อมทั้งคาดว่าหุ้นของ บริษัท การบินไทย จะกลับเข้าไปซื้อ-ขาย ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงปลายปี 2567 จากแผนการเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 หลังจากในไตรมาส 2/66 เป็นไตรมาสที่บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิได้ติดต่อกัน 4 ไตรมาส 

 

อีกทั้งแม้ว่าโดยปกติในช่วงไตรมาส 2 ของทุกปีจะเป็นช่วงโลว์ซีซันของธุรกิจสายการบิน แต่บริษัทสามารถทำกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 2/66 สูงสุดในรอบ 20 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ของทุกปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีกำไรจากการดำเนินงาน 8,576 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนจากการดำเนินการ 1,299 ล้านบาท และยังมี EBITDA 9,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 351% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่มี 2,062 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/66 ที่ออกมาถือว่าดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกขยายตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศเศรษฐกิจหลักมีการขยายตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/66 ทั้ง สหรัฐฯ, ยูโรโซน, ญี่ปุ่น และจีน ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการบินโลกในไตรมาสที่ 2/66 ให้ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการเดินทางคงค้าง และการเปิดประเทศของจีน รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวของไทยมีการฟื้นตัวหลังจากมีการผ่อนคลาย และยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั้งของไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะการเปิดประเทศของจีน

 

คาดทั้งปี 2566 มีรายได้ 1.6 แสนล้านบาท 

 

สำหรับแนวรายได้ของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่าจะมีรายได้มากกว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ที่มีรายได้ประมาณ 7.89 หมื่นล้านบาท พร้อมคาดว่าผลการดำเนินงานทั้งปี 2566 จะเป็นไปตามเป้าหมาย โดยจะมีรายได้รวมที่ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท โดยมีจำนวนผู้โดยสารทั้งปีนี้อยู่ที่ 9 ล้านคน จากครึ่งปีแรกของปีนี้ที่มีจำนวน 6.87 ล้านคน

 

ขณะที่มีปัจจัยสนับสนุนธุรกิจในช่วงครึ่งของปีนี้ ทั้งภาพรวมของการเดินทางท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งช่วงครึ่งหลังของปีนี้บริษัทจะมีการขยายฝูงบิน โดยมีเครื่องบินใหม่เข้ามาอีกจำนวน 6 ลำ เพื่อรองรับการให้บริการของฝูงบินเดิม ที่ปัจจุบันอัตราการใช้งานที่ค่อนข้างเต็ม และช่วงไตรมาส 1/67 จะทยอยมีเครื่องบินใหม่เข้ามาอีกจำนวน 5 ลำ

 

ปัจจุบันบริษัทมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 67 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 47 ลำ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 76.9% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 192.8% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 81.4% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 49.2% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่ง รวมทั้งสิ้น 6.87 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 126.7%

 

จ่อเพิ่มทุนรอบใหม่ไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท 

 

นอกจากนี้ ณ สิ้นงวดไตรมาส 2/66 บริษัทมีกระแสเงินสดอยู่ที่ 5.12 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา ส่งผลให้บริษัทไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาทเพิ่ม ซึ่งได้มีการอนุมัติเปิดเงื่อนไขไว้ให้สามารถกู้ยืมเงินในวงเงินจำนวนดังกล่าวได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ

 

โดยบริษัทมีแผนจะนำกระแสเงินสดจำนวนดังกล่าวเตรียมทยอยใช้ชำระคืนหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีหนี้รวมประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งจะเริ่มทยอยจ่ายหนี้ทั้งหนี้สถาบันการเงินและหุ้นกู้ตั้งแต่ปี 2567 โดยใน 3 ปีแรกจะเริ่มจ่ายหนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี จากนั้นจะเริ่มทยอยคืนหนี้ลดลง ซึ่งบริษัทจะทยอยชำระหนี้ครบทั้งหมดในปี 2574 

 

อีกทั้งบริษัทยังดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการในการเพิ่มฐานทุนให้แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทกลับมาเป็นบวก หลังจากได้ดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนที่มีการเพิ่มทุนรอบแรกไป และคาดว่าจะมีการเพิ่มทุนรอบใหม่ในช่วงกลางปี 2567 มูลค่าระดมเงินไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2567           

 

นอกจากนี้บริษัทยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีมูลค่าลงทุน 7,000-8,000 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาเตรียมในส่วนของ Business Model คาดใช้เวลา 3-4 เดือน และอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรหลายรายในการร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising