×

ส่งออกสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมเกษตรไทย ‘หดตัว’ ครั้งแรกในรอบ 2 ปี Krungthai COMPASS มองปีนี้ ‘ยังมีหวัง’

03.02.2023
  • LOADING...

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 4 ปี 2565 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี เหตุได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ ด้าน Krungthai COMPASS มองว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยปีนี้จะยังสามารถขยายตัวได้ แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 

Krungthai COMPASS เผยภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 4 ปี 2565 หดตัวที่ 5.7% จากปีก่อน นับเป็นการหดตัวอย่างแรง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวถึง 7.1% โดยหดตัวในทุกตลาดสำคัญ รวมถึงในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดคิดเป็น 29% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดหดตัว 5.7% เนื่องจากมาตรการ Zero-COVID ของจีนที่เข้มงวด ส่งผลให้กำลังซื้อและการบริโภคในจีนชะลอตัวลง เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็น 11% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดหดตัวถึง 19.3% เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

โดยหมวดสินค้าเกษตรหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสแล้ว โดยไตรมาสที่ 4 หดตัว 7.0% จากปีก่อน ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าสำคัญที่หดตัวแรง ได้แก่ ยางพารา หดตัวถึง 36.9%YoY ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ ได้แก่ มันสำปะหลัง ไก่ และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง 

 

ด้านหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมีการหดตัวเป็นครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ 4.0% จากปีก่อน ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย สิ่งปรุงรสอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป แต่ก็เป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงชัดเจนเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

 

การส่งออกข้าวไตรมาส 4 หดตัวเล็กน้อย 

 

มูลค่าการส่งออกข้าวไตรมาสที่ 4 ปี 2565 หดตัวที่ 2.2% จากปีก่อน โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีมูลค่าการส่งออกหดตัวถึง 13.8% จากปริมาณการส่งออกที่หดตัวถึง 24.5% เนื่องจากคู่ค้ามีการเร่งนำเข้าไปตั้งแต่ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 จากความกังวลในสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน แต่โดยรวมทั้งปีมูลค่าและปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิยังขยายตัว 7.8% และ 8.7% ตามลำดับ 

 

ส่วนมูลค่าการส่งออกข้าวขาวในไตรมาส 4 ยังคงขยายตัว 6.2% จากปีก่อน จากปัจจัยด้านปริมาณที่ขยายตัว 6.3% เนื่องจากราคาส่งออกข้าวขาวที่ยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียได้มากขึ้น อีกทั้งมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศกลุ่มตะวันออกกลางและจีน จากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร หลังจากในช่วงที่ผ่านมาเกิดภัยธรรมชาติขึ้นในหลายประเทศ และส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ทำให้ไทยสามารถขยายตลาดสู่ตลาดตะวันออกกลางได้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดอิรัก

 

แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญในปีนี้

 

Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2566-2567 ทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรจะยังขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลง โดยปัจจัยท้าทายที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่

 

  • ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จะส่งผลกระทบทำให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปี 2565 อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการสินค้าเกษตรในการขยายตลาดรองที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่ยังมีกำลังซื้อจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง เช่น การส่งออกข้าวไปยังตลาดอิรัก การส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารสัตว์ไปยังตลาดซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น 

 

  • เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวอย่างจำกัด อาจทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคจีนยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่นัก กระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก เช่น มันสำปะหลัง และยางพารา นอกจากนี้ แม้ว่าล่าสุดจะมีการยกเลิกนโยบายมาตรการ Zero-COVID แต่ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยยังคงต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณภาพสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น 

 

  • ต้นทุนดอกเบี้ยและต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น กดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะรายกลางและรายย่อย ที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนต่ำกว่ารายใหญ่ และเป็นกลุ่มที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากอยู่แล้ว 

 

  • ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ที่มีการแข่งขันด้านราคารุนแรงอยู่แล้ว

 

  • มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้า เช่น มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่จะประกาศใช้ในเดือนตุลาคมปี 2566 ซึ่งแม้ในระยะแรกจะมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอะลูมิเนียม แต่ในอนาคตก็อาจขยายมาตรการให้ครอบคลุมสินค้าในกลุ่มเกษตรและอาหารได้ นอกจากนี้ สหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งรวมถึงปาล์มน้ำมัน โค กระบือ ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ ไม้ซุง และยางพารา และจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการประมาณเดือนมิถุนายน 2566 ทำให้ภาคเกษตรที่ถือเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงรองจากภาคพลังงานต้องเผชิญความท้าทายจากประเทศคู่ค้าอย่าง EU และสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการดำเนินธุรกิจที่ตอบโจทย์ด้าน Sustainability
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising