วันนี้ (1 มีนาคม) THE STANDARD ลงพื้นที่สำรวจ ‘ท่าเรือท่าช้าง’ ซึ่งมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ครั้งใหญ่ โดยเป็นท่าเรือที่ให้บริการเรือโดยสาร เรือข้ามฟาก และเรือท่องเที่ยวแก่ประชาชนมาอย่างเนิ่นนาน และหากย้อนกลับไปหลายคนจะมีภาพจำต่อพื้นที่โดยรอบว่าเป็นแหล่งขายหนังสือเก่า มีร้านอาหารต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ชีวิตที่เคยคับคั่งไปด้วยฉากชีวิตที่หลากหลาย แต่วันนี้แทบไม่หลงเหลือเค้าลางเดิมแต่อย่างใด
สำหรับการปรับปรุงท่าเรือท่าช้าง กรมเจ้าท่าได้ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ วางแผนพัฒนาเพื่อให้มีความสะดวก ปลอดภัย รวมถึงมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม เหมาะสมกับพื้นที่เชิงประวัติศาสตร์โดยรอบ
โดยท่าเรือมีขนาดพื้นที่ 1,800 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่การปรับปรุงออกเป็นอาคารศาลาพักคอยขนาดพื้นที่ 320 ตารางเมตร จำนวน 2 หลัง, โป๊ะเทียบเรือ ขนาด 5×10 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 2 โป๊ะ, โป๊ะเทียบเรือขนาด 6×12 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 4 โป๊ะ
ท่าเรือท่าช้างเป็นท่าเรือที่สำคัญ เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางสู่ระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีจำนวนประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้ในการเดินทางทางน้ำปริมาณมาก เช่น เรือด่วนเจ้าพระยา เรือข้ามฟาก เรือทัวร์ เรือหางยาวท่องเที่ยว แต่ด้วยท่าเรือท่าช้างมีสภาพเก่า เนื่องจากการใช้งานมาเป็นเวลานาน รวมถึงพื้นที่อาคารพักคอยมีความคับแคบ ไม่เพียงพอรองรับผู้โดยสารที่มีจำนวนมากขึ้น
ปัจจุบันท่าเรือท่าช้างปรับปรุงก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว และเปิดให้บริการแก่ประชาชนมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน
ภายในท่าเรือสามารถเชื่อมต่อไปยังพระบรมมหาราชวัง บริเวณหน้าประตูสุนทรทิศา ผ่านอุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลานและถนนมหาราช เขตพระนคร ที่อยู่ในบริเวณท่าเรือท่าช้าง เป็นการช่วยอำนวยความสะดวก สร้างความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนที่จะเดินทางมาเที่ยวชมพระบรมมหาราชวังที่อยู่ใกล้บริเวณท่าเรือท่าช้าง ถือเป็นการพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพฯ ให้พร้อมเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบอื่นๆ ต่อไปในอนาคต