×

TGH กลุ่มประกันเครือเจ้าสัวเจริญ ขาดทุนปี 64 กว่า 3.2 พันล้าน พิษเคลมประกันโควิด เตรียมเพิ่มทุน 451 ล้านหุ้น หวังเติมสภาพคล่อง

01.03.2022
  • LOADING...
TGH

บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ หรือ TGH ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี รายงานผลประกอบการปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 3,260 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจประกัน คือ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย (SEIC) และบริษัท ไทยประกันภัย (TIC) รับผลกระทบจากยอดเคลมประกันโควิด เจอ จ่าย จบ ที่มียอดเคลมสูง 10,907 ล้านบาท จนต้องเลิกกิจการ ขณะเดียวกันบอร์ดบริษัทไฟเขียวมติเพิ่มทุน 451.25 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม บุคคลทั่วไป และบุคคลในวงจำกัด หวังเพิ่มสภาพคล่อง เสริมแกร่งทางการเงิน รองรับขยายธุรกิจ พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์’

 

TGH เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีผลขาดทุนสุทธิ 3,260.47 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 4.34 บาท พลิกจากกำไรสุทธิ จำนวน 728.45 ล้านบาท ในปี 2563 

 

ผลประกอบการของกลุ่มบริษัทในปี 2564 มีผลขาดทุนสุทธิ 3,360 ล้านบาท ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญจากการดำเนินงานของธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทย่อย 2 แห่ง คือ SEIC และ TIC ซึ่งได้รับผลกระทบจากการออกกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด ประเภทเจอ จ่าย จบ

 

ค่าใช้จ่ายสินไหมทดแทนกรมธรรม์โควิดของ SEIC และ TIC ที่เกิดขึ้นแล้วในปี 2564 มีจำนวนรวม 10,907 ล้านบาท โดยที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินในปี 2564 รวม 9,600 ล้านบาท ซึ่งหากไม่ได้รับการสนับสนุนดังกล่าว ยอดรวมค่าสินไหมที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ผลประกอบการของ TGH ขาดทุนสูงกว่า 10,000 ล้านบาท และอาจส่งผลให้ SEIC และ TIC ไม่สามารถที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/64 เป็นต้นมา

 

กลุ่มบริษัทได้รับผลกระทบจากการขาดทุนจากธุรกิจประกันภัย จำนวน 4,383 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากค่าสินไหมทดแทนกรมธรรม์โควิด เจอ จ่าย จบ ตามที่รายงานสรุปผลกระทบของโควิดต่อผลประกอบการของธุรกิจประกันวินาศภัยจำนวน 4,206 ล้านบาท ประกอบกับมีการตั้งสำรองรายการที่เกี่ยวข้องกับการเลิกประกอบธุรกิจของ SEIC จำนวน 278 ล้านบาท

 

ในขณะที่ผลการดำเนินงานของการรับประกันภัยรถยนต์และทรัพย์สินมีการปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จากการลดลงของค่าสินไหมทดแทนรถยนต์ ทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับ การควบคุมต้นทุนการได้มาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ขณะที่บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 33,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,408 ล้านบาท หรือ 44.8%

 

ทั้งนี้การดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจอื่น ทั้งประกันชีวิตและธุรกิจการเงิน มีผลการดำเนินงานที่ดี โดยธุรกิจประกันชีวิตกำไรสุทธิ 665 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 760 ล้านบาท ธุรกิจการเงินกำไรสุทธิ 640 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 331 ล้านบาท ส่วนธุรกิจประกันภัยขาดทุน 4,383 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 96 ล้านบาท และธุรกิจอื่นๆ ขาดทุน 282 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 289 ล้านบาท

 

ขณะเดียวกันคณะกรรมการมีมติให้เสนอผู้ถือหุ้นเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวน 4,512.58 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 7,520.97 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 12,033.56 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 451.25 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท โดยจัดสรรดังนี้ 

 

วิธีที่ 1 จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 225,629,349 หุ้น คิดเป็น 30% ของทุนชำระแล้ว เพื่อเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น

 

วิธีที่ 2 จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 150,419,566 หุ้น คิดเป็น 20% ของทุนชำระแล้ว เพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป

 

วิธีที่ 3 จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 75,209,783 หุ้น คิดเป็น 10% ของทุนชำระแล้ว เพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด

 

พร้อมกันนี้คณะกรรมการบริษัทอนุมัติการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทเป็น บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โดยกำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้นสำมัญประจำปี 2565 ในวันที่ 28 เมษายน 2565

 

วัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อยและบริษัทในเครือ ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนเพิ่มเติมในการขยายธุรกิจในอนาคตให้เป็นไปตามแผนงานและเป้าหมายของบริษัท โดยกำหนดรายละเอียดการเพิ่มทุนที่ชัดเจนเมื่อคณะกรรมการบริษัทมีมติจัดสรร

 

การเพิ่มทุนในครั้งนี้จะทำให้บริษัทสามารถระดมทุนได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งจะเพิ่มสภาพคล่องและสร้างความแข็งแกร่งทางโครงสร้างเงินทุนของบริษัท สร้างความมั่นคงด้านสถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท และจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัท

 

ด้านสินทรัพย์รวม ณ ปี 2564 เท่ากับ 91,562 ล้านบาท ลดลง 1,065 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อน โดยมาจากการลดลงของสินทรัพย์ลงทุนจำนวน 1,118 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 67% ของสินทรัพย์รวม

 

ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก ประกอบด้วย 

  1. บริษัท ผลมั่นคงธุรกิจ จำกัด ถือหุ้น 45%
  2. บริษัท อาคเนย์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ถือหุ้น 31.40%
  3. บริษัท ไทยสิริวัฒน จำกัด ถือหุ้น 4.99%
  4. บริษัท เพรสทีจ 2015 จำกัด ถือหุ้น 4.97%
  5. บริษัท สินธนรัตน์ จำกัด ถือหุ้น 4.92%
  6. UBS AG SINGAPORE BRANCH ถือหุ้น 4.45%
  7. DBS BANK LTD ถือหุ้น 3.01%
  8. บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 0.48%
  9. สำนักงานพระคลังข้างที่ ถือหุ้น 0.10%
  10. ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ถือหุ้น 0.09%

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising