×

ความสวยช่างน่าเศร้า เมื่อเมกอัพชิ้นโปรดอาจต้องแลกมาด้วยน้ำตาของสัตว์น้อย

21.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins.Read
  • ข้อมูลจาก Cruelty Free International เปิดเผยว่าในแต่ละปีมีสัตว์ราวๆ 115 ล้านตัวถูกใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อแลกกับความก้าวหน้าในการพัฒนาคุณภาพยา วัคซีน และผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงเครื่องสำอาง
  • ประเทศเกาหลีใต้อนุมัติร่างกฎหมายออกคำสั่งห้ามบริษัทเครื่องสำอางทดสอบเครื่องสำอาง และส่วนผสมต่างๆ ในสัตว์ภายในปี 2018 ขณะที่ประเทศอาร์เจนตินา, บราซิล, รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มมีมาตรการห้ามการทดลองในสัตว์ โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องสำอาง
  • เผยรายชื่อแบรนด์เครื่องสำอางที่ไม่ทดลองในสัตว์ เฉพาะที่วางขายในประเทศไทยรวมกว่า 100 แบรนด์

หลายคนอาจเคยได้ยินหรือเห็นข้อความรณรงค์เกี่ยวกับการเลือกใช้เครื่องสำอางที่ไม่ทดลองในสัตว์กันมาบ้างแล้ว THE STANDARD อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง Cruelty Free มากขึ้น เพราะอยากให้สาวๆ ได้รับรู้ความจริงของเบื้องหลังความสำเร็จของเครื่องสำอางชิ้นโปรด ที่อาจมีจุดเริ่มต้นจากการทดลองกับน้องสัตว์ตัวน้อย เช่น หนู กระต่าย แมว ลิง สุนัข ม้า แกะ สุกร ฯลฯ เป็นจำนวนมากในแต่ละปี การรับรู้ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ทุกคนตระหนักถึงสิ่งที่ตัวเราเองสามารถทำได้ เช่น ร่วมรณรงค์ต่อต้านการทดลองในสัตว์ สนับสนุนแบรนด์ที่ไม่ทดลองผลิตภัณฑ์ในสัตว์ และบอกต่อเพื่อนๆ ให้รับรู้ถึงความจริงที่น่าเศร้า เพราะหากเราช่วยกันคนละนิด ในอนาคตแบรนด์ความงามทั้งหมดอาจหันมาใส่ใจเรื่องนี้กันมากขึ้นก็เป็นได้

 

การทดลองในสัตว์คืออะไร?

การทดลองในสัตว์ (Animal Testing) คือการทดสอบผลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อผลของงานวิจัย การแพทย์ การทดสอบ เพื่อให้ได้ผลของการพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่ตอบสนองคุณภาพชีวิตของมนุษย์และสัตว์ อาทิ ยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงเครื่องสำอาง เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยกับผิวหนังของมนุษย์ ซึ่งกว่าจะได้ผลลัพธ์เหล่านี้ต้องใช้สัตว์มาเป็นตัวทดลองมากมาย ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การฉีดหรือบังคับให้สัตว์กินอาหารที่มีสารอาจเป็นอันตรายเพื่อดูผลลัพธ์ การหยอดสารเคมีเข้าไปในดวงตาของกระต่าย การทาครีมหรือสารเคมีลงไปบนผิวหนังของสัตว์ เพื่อทดสอบอาการแพ้ต่างๆ บางวิธีโหดร้ายและน่าสงสารมาก เช่น การฉีดสารที่จะทดสอบเข้าไปในดวงตาของสัตว์โดยตรง ดังนั้นมาสคาร่าเริ่ดๆ สักแท่งที่สาวๆ ใช้อยู่ โดยที่ไม่เป็นอันตรายกับดวงตา จึงผ่านหยดน้ำตาและความเจ็บปวดของกระต่ายจำนวนมากที่ต้องตาบอดไปตลอดชีวิต

 

115 ล้านตัว คือจำนวนการทดลองกับสัตว์ทั่วโลกในแต่ละปี

จากสถิติตั้งแต่ปี 1980 (ข้อมูลจาก www.crueltyfreeinternational.org) ระบุข้อมูลและตัวเลขเกี่ยวกับการทดลองในสัตว์ว่ามีสัตว์ต่างๆ จำนวนมากถึง 115 ล้านตัว ถูกทำการทดลองในแต่ละปีทั่วโลก (ลองเอา 38 ปีคูณเข้าไป ตัวเลขรวมของสัตว์ที่ถูกใช้ในการทดลองคือ 4,370 ล้านตัว) โดย 10 อันดับของประเทศที่มีการทดลองในสัตว์ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, จีน, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, แคนาดา, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ไต้หวัน และบราซิล เรื่องน่าเศร้าคือแม้จะมีวิธีอื่นในการทดลองที่ไม่ต้องใช้สัตว์เหมือนเดิม แต่บางประเทศ เช่น จีน ก็ยังมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับฝั่งยุโรปที่มีตัวเลขการทดลองในสัตว์มากขึ้น 14% ในปี 2014

 

แนวโน้มการทดลองในสัตว์ของเครื่องสำอางทั่วโลก
นับตั้งแต่ปี 1989 แทบจะเรียกได้ว่าทุกแบรนด์เครื่องสำอางทั้งหมดทั่วโลก ล้วนทดสอบผลิตภัณฑ์กับสัตว์ทั้งสิ้น แต่ในเวลาเดียวกันก็เริ่มมีบางแบรนด์ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการทดลองเครื่องสำอางกับสัตว์ เช่น The Body Shop ที่เป็นตัวตั้งตัวตีแรกๆ ในการสร้างแคมเปญรณรงค์ต่อต้านการทดลองผลิตภัณฑ์ในสัตว์มาเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ โดยเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกับ Cruelty Free International ช่วยกันผลักดันแคมเปญต่างๆ ในระดับชาติของสหภาพยุโรปในปี 2013 ผ่านการรวบรวมลายเซ็น 1 ล้านรายชื่อ ส่งผลให้ทั้งประเทศเกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ อินเดีย ออสเตรเลีย เกิดแอ็กชันที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในการจัดการปัญหานี้

 

อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ เพิ่งมีการอนุมัติร่างกฎหมาย ออกคำสั่งห้ามบริษัทเครื่องสำอางทำการทดสอบเครื่องสำอางและส่วนผสมต่างๆ ในสัตว์ภายในปี 2018 ขณะที่ประเทศอาร์เจนตินา, บราซิล, รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มมีมาตรการห้ามการทดลองในสัตว์โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องสำอาง ในประเทศอินเดียมีการปล่อยสุนัข 200 ตัวออกจากห้องทดลอง เนื่องจากต้องทำตามนโยบายใหม่ของรัฐบาลที่เริ่มเข้มงวดกับการทดลองในสัตว์ และไต้หวันเป็นประเทศล่าสุดที่รัฐบาลอนุมัติกฎหมายห้ามการทดสอบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปและส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ (ปรับปรุงกฎหมายควบคุมสุขอนามัยเครื่องสำอางของไต้หวัน) ให้มีผลบังคับใช้ภายในปี 2019

 

ส่วนประเทศไทยของเรา Cruelty Free International ได้หารือกับประเทศไทยและรัฐบาลอื่นๆ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการห้ามการทดลองในสัตว์ในภูมิภาคอาเซียน

 

ทางเลือกของการทดลองด้วยวิธีใหม่ๆ

หลายคนอาจมีคำถามว่า ถ้าไม่ทดลองในสัตว์แล้วมีวิธีอื่นอีกไหมที่ใช้แทนกันได้ ปัจจุบันมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น เช่นการเพาะเนื้อเยื่อ หรือสร้างอวัยวะทดแทนสัตว์ทดลอง และนำอวัยวะนั้นมาฝังชิปเพื่อศึกษากระบวนการทางชีวภาพ ว่ากันว่าอุปกรณ์สมัยใหม่นี้สามารถผลิตเลียนแบบอวัยวะได้อย่างถูกต้อง แต่ส่วนมากทางเลือกนี้มักเกิดในการทดสอบความปลอดภัยทางเคมีของการพัฒนายารักษาโรคและวัคซีน

 

นอกจากนี้ยังมีวิธีการใช้เนื้อเยื่อที่ได้รับบริจาคด้วยความสมัครใจจากอาสาสมัครมาศึกษาด้านชีววิทยาและโรคของมนุษย์ ซึ่งการใช้เนื้อเยื่อเหล่านี้สามารถใช้แทนการทดลองกับกระต่ายได้โดยตรง มีบริษัทต่างๆ ที่หันมาทดสอบผ่านเนื้อเยื่อ เช่น EpiSkin, Mettek และ CellSystems GmbH ซึ่งใช้ในการทดสอบกับเครื่องสำอางและสารอื่นๆ แทนการทดลองกับสัตว์

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าเครื่องสำอางแบรนด์ไหนไม่ทดลองในสัตว์

งานนี้สาวไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านการทดลองในสัตว์ได้ง่ายๆ ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ความงามที่มีสัญลักษณ์ดังต่อไปนี้

  • Cruelty Free
  • Cruelty Free & Vegan
  • Not Tested on Animals
  • No Animal Testing
  • We Never Tested on Animals
  • Lapping Bunny

 

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X