×

ส่องความเป็นไปได้ ‘Tesla’ ปักฐานผลิตที่ไทย ทำไมใครๆ ก็รุมจีบ

14.03.2024
  • LOADING...
Tesla ฐานผลิตไทย

หลังจากที่ เศรษฐา ทวีสิน กล่าวไว้เมื่อปีที่แล้วว่า Tesla กำลังเลือกทำเล และจะตัดสินใจลงทุนในไทยได้ในไตรมาสแรกของปี 2567

 

คงต้องย้อนไปช่วงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เศรษฐาเดินทางไปประชุม APEC ยังประเทศสหรัฐอเมริกา และได้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงงาน Tesla

 

เศรษฐาสรุปการหารือในครั้งนั้นว่า ได้มีการพูดคุยกับผู้บริหารของ Tesla ซึ่งสนใจเข้ามาลงทุนในไทย เพราะไทยเป็นประเทศที่ Tesla ให้ความสนใจสูงสุด โดยมั่นใจว่าการลงทุนจะไม่ใช่เพียงแค่โรงงานประกอบรถยนต์อย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนมหาศาล

 

กระทั่งล่าสุดกระแสข่าวระบุว่า Tesla ต้องการให้รัฐบาลปลดล็อก ‘เงื่อนไขพื้นที่ลงทุน’ ที่ต้องใช้พื้นที่ 2,000 ไร่ที่เป็นผืนเดียวกัน

 

เศรษฐาชมโรงงาน Tesla Fremont Factory เมืองเฟรมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

โดยล่าสุดรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า พื้นที่ลงทุนของไทยในนิคมอุตสาหกรรมไม่เพียงพอ ทั้งของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน เนื่องจากปกติการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะใช้พื้นที่ประมาณ 1,000-2,000 ไร่ และการลงทุนจะใช้หลักร้อยไร่ต่อราย เช่นกรณีของค่ายรถ BYD 600 ไร่ จึงสามารถหาได้ทันที ดังนั้นจึงได้สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งหารือหน่วยงานเพื่อปลดล็อกเงื่อนไขพื้นที่ผังเมือง

 

ปลดล็อกเงื่อนไขอัดแพ็กเกจสูงสุดของการลงทุน EEC

 

ส่วนกรณีของเงื่อนไขการลงทุนพื้นที่ EEC ในช่วงปลายปีที่แล้ว จุฬา สุขมานพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า มีการทบทวนและปรับสิทธิประโยชน์พิเศษเป็นรายกรณีให้กับนักลงทุนรายใหม่ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อาทิ Tesla ให้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย  

 

อีกทั้งยังเสนอแพ็กเกจสูงสุดของการลงทุนในพื้นที่ EEC ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีการลงทุนต่างๆ สูงสุด 15 ปี และยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ทั้งอุปกรณ์และชิ้นส่วน การให้วีซ่าระยะยาวในการพำนักในไทยสูงสุด 10 ปี ทั้งในกลุ่มแรงงานและนักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกันแพ็กเกจดังกล่าวจะเป็นแพ็กเกจพิเศษที่มากกว่า BOI ที่ยกเว้นภาษีการลงทุนสูงสุดที่ 8 ปี

 

“รวมไปถึงการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Flat Rate) เหลือ 17% และปรับอัตราค่าเช่าพื้นที่สร้างโรงงาน คาดว่าจะให้เช่าได้สูงสุด 99 ปี”

 

อ่านใจ อีลอน มัสก์

 

ที่ผ่านมา บ่อยครั้ง อีลอน มัสก์ มักจะบอกว่า Tesla จำเป็นต้องมีโรงงานขนาดใหญ่หลายแห่ง เพื่อกระจายสายป่านการผลิตและการขายรถยนต์ในระยะยาว รวมถึงเลี่ยงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ 

 

“เพราะการมีไข่ในตะกร้าใบเดียว หรือมีกำลังการผลิตที่มากเกินไป และขึ้นอยู่กับรัฐบาลเดียว ไม่ใช่เรื่องดีนัก” 

 

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Tesla จะมองหาโอกาสสร้างโรงงานขนาดใหญ่ในประเทศอื่นๆ มากขึ้น และประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในทำเลที่เหมาะสม 

 

เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค ซึ่งจะเห็นว่าช่วงปีที่ผ่านมามีบรรดาค่ายรถ EV จากจีนเข้ามาตั้งฐานผลิตแล้วกว่า 1.44 พันล้านดอลลาร์

 

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์

 

ส.อ.ท. ชี้ ไทยมีแต้มต่อผู้ผลิตรถสันดาประดับโลก

 

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า นโยบายภาครัฐขณะนี้ ‘มาถูกทาง’ สามารถดึงดูดการลงทุน หาก Tesla มาตั้งฐานผลิตเช่นนั้นจริงก็ถือเป็นข่าวดี  

 

“ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เรื่องระดับโลก หาก Tesla เลือกที่จะตั้งโรงงานในไทย ซึ่งไม่ใช่แค่ยานยนต์ไฟฟ้าที่จะได้ประโยชน์ แต่ยังส่งผลต่อซัพพลายเชน ชิ้นส่วนได้อานิสงส์ จริงๆ แล้วทาง Tesla มองหลายตลาดในอาเซียน”

 

ถามว่าทำไม Tesla ต้องเลือกไทย ส่วนหนึ่งคนไทยชอบอุตสาหกรรมไฮเทค หลักๆ คือเพราะนโยบายรัฐบาลอุดหนุนและให้ความเชื่อมั่น หากดูจากก่อนหน้านี้ Tesla นำเข้ามาก่อนหน้าอยู่แล้ว เป็นการนำเข้ามาจากจีนเพราะได้ภาษีเป็น 0% 

 

ทั้งนี้ คาดว่า Tesla คงมองหลายปัจจัย เช่น จุดแข็งที่ไทยเป็นผู้นำผลิตรถสันดาปภายใน แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโต  

 

อย่างไรก็ตาม กรณีของพื้นที่ที่ Tesla มองไปที่พื้นที่ที่ดินลาดกระบัง 2,000 ไร่เพื่อเปิดโรงงานในไทย คาดว่าเป็นไปได้หรือไม่นั้น ‘น่าจะยาก’ เพราะพื้นที่อาจไม่พอ และ Tesla มีหลายโปรดักต์ที่ไม่ใช่แค่รถยนต์ EV ยังมีธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ด้วย

 

แบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) หนึ่งในธุรกิจใหม่ของ Tesla

 

“หากเป็นพื้นที่ใหญ่ขนาดนั้นอาจเป็นไปได้ว่าจะสร้างโรงงานแบตเตอรี่หรือรองรับโปรดักต์อื่นๆ ด้วยหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาเฉพาะค่ายรถ BYD พื้นที่กว่า 600 ไร่ก็ถือว่ามากพอสมควร และสามารถหาทำเลพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้เลย” สุรพงษ์กล่าว

 

ความเป็นไปได้ที่จะตั้งโรงงานในไทย?

 

อย่างไรก็ตาม หากดูยอดขายน่าสนใจว่า ยอดขายของ Tesla ถือว่าชะลอตัวเล็กน้อยในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในปี 2567 และแม้ดูเหมือนว่า Tesla จะไม่ต้องการขยายกำลังการผลิตมากนักในขณะนี้ แต่ขณะเดียวกันบริษัทก็กำลังพัฒนารถยนต์ที่มีขนาดเล็กกว่าและมีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้มียอดขายเพิ่มขึ้น 

 

Tesla ต้องการผลิตรถยนต์ราคาถูกในปริมาณมาก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเป็นทำเลที่ Tesla สามารถบรรลุเป้าหมายการขายรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่ราคาไม่แพงจนเกินไป 

 

อีกทั้งฐานผลิต ‘Made in Thailand’ น่าจะเหมาะกับผู้ซื้อมากกว่า ‘Made in China’ ในบางประเทศ

 

รายงานข่าวระบุว่า ความเคลื่อนไหวการตั้งโรงงานในไทยครั้งนี้อาจเป็นเพียง ‘การเก็งกำไร’ เท่านั้นหรือไม่ และอาจเป็นไปได้ว่า Tesla จะสร้างโรงงานและผลิต ‘บางสินค้า’ ในประเทศไทย แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน 

 

ทำไมใครๆ ก็จีบ Tesla เพื่อนบ้านอินโดนีเซียก็รุกหนัก

 

เมื่อไม่นานมานี้ Tesla ก็พิจารณาสร้างโรงงานในอินเดียและอินโดนีเซีย แต่ยังไม่มีความคืบหน้า โดยอินโดนีเซียต้องการดึงดูดการลงทุนกับ Tesla เพื่อผลิตแบตเตอรี่ แต่ก็เผชิญความท้าทายเกี่ยวกับเครดิตภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แร่นิกเกิลในอินโดนีเซีย แม้จะมีอุปสรรคเหล่านี้ แต่มีแนวโน้มว่าอินโดนีเซียและ Tesla จะทำธุรกิจร่วมกันในที่สุด 

 

ทั้งนี้ อินโดนีเซียอาจไม่ใช่ประเทศที่มีแนวโน้มมากที่สุดสำหรับศูนย์กลางการผลิตของ Tesla ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็อาจมีบทบาทในด้านแบตเตอรี่ ซึ่งอินโดนีเซียมีอำนาจและแต้มต่อแร่นิกเกิลอย่างมีนัยสำคัญ

 

แม้แต่ CATL บริษัทแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ของจีน กับบริษัท Indonesia Battery Corporation ของรัฐบาลอินโดนีเซีย ต่างก็มีแผนลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อผลิตแบตเตอรี่ นี่อาจเป็นโอกาสสำหรับอินโดนีเซียในการขยายโซ่อุปทานของ Tesla 

 

มาเลเซียก็น่าสนใจ?

 

ในขณะที่อินโดนีเซียแสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับ Tesla ในด้านการผลิตและการประกอบแบตเตอรี่ แต่ดูเหมือน Tesla ก็มองมาเลเซียเป็นตลาดที่น่าดึงดูดไม่แพ้กัน 

 

เนื่องจากมาเลเซียมีรายได้ต่อหัวที่สูงกว่า มีโครงสร้างพื้นฐานของการคมนาคมที่ดี และมีแผนที่จะจัดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าหลายพันแห่ง อีกทั้งรัฐบาลให้สัมปทานพิเศษเฉพาะ Tesla ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มาเลเซียเป็นที่สนใจของ Tesla เมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและไทย

 

รู้จัก Tesla กับบทบาทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเบอร์ต้นของโลก

 

 

กว่าจะมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของโลก Tesla ซึ่งถือกำเนิดเมื่อปี 2546 ต้องดิ้นรนต่อสู้กับแบรนด์รถยนต์น้ำมันสันดาป แต่การมาของ อีลอน มัสก์ ได้ยกระดับบริษัทให้มีมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ และกลายผู้ลงทุนคนแรกๆ ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ส่วนโครงสร้างรายได้ของ Tesla ประกอบด้วยรายได้จากการขายรถยนต์ไฟฟ้าถึง 83% 

 

ขณะที่รายได้อื่นๆ มาจากการบริการ 7%, อุปกรณ์กักเก็บพลังงาน 5%, การปล่อยสินเชื่อ 3% และการขายรถยนต์ไฟฟ้าให้ผู้ผลิตรถยนต์เจ้าอื่น 2% ผลประกอบการที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีคู่แข่งเข้ามาในตลาด  

 

จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นข่าวการลงทุนใหม่ๆ ของ Tesla ในการมองหาฐานการผลิตใหม่ๆ จากปัจจุบันอยู่ 6 แห่ง โดยอยู่ในสหรัฐฯ 4 แห่ง, จีน 1 แห่ง และเยอรมนีอีก 1 แห่ง 

 

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดหากมองคู่แข่งอย่าง BYD ที่สามารถครองตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชีย แอฟริกา อเมริกาใต้ และอเมริกากลาง และรุ่น ‘BYD Dolphin’ ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในประเทศไทย

 

ว่ากันว่าตามหลักการแล้ว Tesla ควรแข่งขันในตลาดนี้หรือตลาดอื่นๆ ที่ BYD กำลังเติบโต ซึ่งต้องลุ้นกันต่อไปว่า Tesla จะเลือกใคร?

 

อีกทั้งยังมีกระแสข่าวว่า ค่ายรถเกาหลีใต้อย่าง ‘Kia’ ก็กำลังเล็งหาทำเล (นิคมอุตสาหกรรมเอกชน) ในไทยเช่นกัน 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X